7 มีนาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ตัวอย่างเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 จำนวน 1,905 ราย พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 7 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.63% และจากการตรวจสายพันธุ์ย่อยรวม 1,802 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 51.8% แสดงว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ซึ่งมีข้อมูลว่าแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า ขณะที่การแพร่ในครัวเรือน BA.2 อยู่ที่ 39% ส่วน BA.1 อยู่ที่ 29% หรือแพร่เร็วกว่า 10% ดังนั้น สัปดาห์ถัดไปอาจจะพบ BA.2 สูงขึ้นและอาจมาแทน BA.1 ได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าความรุนแรงไม่แตกต่างกัน โดยพบว่า BA.2 ดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยา “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” หรือยาจากภูมิคุ้มกันที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาและ BA.1 ได้ จะไม่ค่อยได้ผลใน BA.2 แต่ยังไม่กระทบกับวิธีรักษา เนื่องจากโอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีอื่นยังได้ผลเหมือนเดิม
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกแนวทางคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับไวรัสโควิดฉบับล่าสุด ซึ่งฉบับร่างได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ 1.สิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจสารพันธุกรรม คือ การเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกหรือน้ำลาย ส่วนสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจหาแอนติเจน กรณีชุดตรวจแบบ Professional Use คือ ตัวอย่างหลังโพรงจมูก กรณี Home Use คือ เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย ซึ่งควรเก็บน้ำลายตอนเช้าหลังตื่นนอนโดยขากจากส่วนลึกของลำคอ งดแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปาก งดอาหาร ยาอม ของขบเคี้ยว อย่างน้อย 30-60 นาที ส่วนกรณีเด็ก ให้ใช้ไม้เก็บตัวอย่าง ที่ไม่แข็งมาก หรือเก็บจากน้ำลาย
2.การตรวจยืนยัน กำหนดให้ตรวจหาสารพันธุกรรมได้ขั้นต่ำไม่เกิน 1,000 copies/ml และต้องตรวจพบทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงวิธี RT-PCR และได้กำหนดเป็นวิธีหลัก แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยี LAMP และ CRISPR ที่ตรวจได้ไม่เกิน 4,000 copies/ml แต่เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์จึงต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อนหากผ่านการอนุญาตแล้ว จะให้เป็นวิธีการตรวจยืนยันเพิ่มจาก RT-PCR 3.การตรวจ ATK ในผู้สัมผัสโรค หากผลเป็นบวก ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้เข้าระบบ HI/CI หรือรักษาแบบผู้ป่วยนอก หากมีอาการหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง จะตรวจสารพันธุกรรม เพื่อส่งรักษาต่อในโรงพยาบาล หากผลเป็นลบไม่มีอาการ สามารถแยกกักตัวเอง ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน หรือเมื่อมีอาการ และ 4.การคัดกรองที่ด่านระหว่างประเทศ ยังใช้ RT-PCR เป็นหลัก แต่อาจพิจารณาใช้การตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (Machine based assay : MBA) หรือเครื่องตรวจสารพันธุกรรมที่ตรวจตัวอย่างได้ครั้งละมาก ๆ และใช้เวลาตรวจไม่นานได้ โดยให้เป็นไปตามการพิจารณาของฝ่ายนโยบาย