นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการติดตามไวรัส SARS-CoV-2 ตั้งแต่ปี 2564 พบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์โดยการตรวจหาจีโนมของไวรัสและรายงานให้รับทราบเป็นระยะๆ ในขณะเดียวกันกรมฯได้เพาะเลี้ยงไวรัสกลายพันธุ์และเพิ่มจำนวนในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อนำมาใช้ทดสอบหาภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ในคนที่ได้รับวัคซีนโควิด19 จนถึงต้นปี 2565 มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในเมืองไทยเป็นสายพันธุ์ย่อย (subtype) BA.1 และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งพบมีการระบาดในประเทศไทยเกือบ 90%
ในขณะที่ประเทศไทย ณ.วันที่ 4 เมษายน 2565 มีประชากรไทยฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มประมาณ 76% และได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ประมาณ 35.6% แต่ยังพบการติดเชื้อและการเสียชีวิตซึ่งคนติดเชื้อไวรัสโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงและสามารถหายเองได้ แสดงว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในคนที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อหรือช่วยให้การติดเชื้อไม่แสดงอาการที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
จากข้อมูลข้างต้นนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ได้ให้ความสำคัญต่อการติดตามคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มและวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในรูปแบบต่างๆ กันร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อดูภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์ต่อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เทียบกับ BA.2 ในขณะเดียวกันได้ติดตามคนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม นาน 1 เดือนและ3 เข็ม นาน 3 เดือนเพื่อดูภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยวิธีมาตรฐานคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) เพื่อหาค่าที่ไวรัสโอมิครอนถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน
ผลการศึกษาใน 9 กลุ่ม อาสาสมัครกลุ่มละ 7-10 คน หลังได้รับวัคซีนเข็ม 2 และ เข็ม 3 กระตุ้น นาน 2 สัปดาห์เปรียบเทียบผลการลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มครบโดส5 กลุ่มคือ
1) SV-AZ
2) AZ-AZ
3) Pf-Pf
4) SV-Pf และ
5) AZ-Pf
(SV = Sinovac vaccine, AZ = AstraZeneca vaccine, Pf = Pfizer vaccine)
และในกลุ่มที่ได้รับเข็ม 3 เป็นเข็มกระตุ้นใน 5 กลุ่มคือ
1) SV-SV-AZ
2) SV-SV-Pf
3) AZ-AZ-Pf
4) SV-AZ-Pf และ
5) SV-AZ-AZ
พบว่าภูมิคุ้มกันเฉลี่ยที่เกิดขึ้นต่อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สูงกว่า BA.1 ในทุกกลุ่มโดยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน AZ หรือ Pf เข็มที่ 2 จะให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงต่อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2ยกเว้นในกลุ่มที่ได้รับ SV-AZภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อกระตุ้นด้วยเข็ม 3 (SV-AZ-AZ) ภูมิคุ้มกันเฉลี่ยสูงขึ้นทั้งต่อไวรัสสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 และสูงขึ้นตามลำดับในกลุ่มที่ได้รับเข็ม 3 Pf (SV-SV-Pf, AZ-AZ-Pf, SV-AZ-Pf) และ AZ (SV-SV-AZ, SV-AZ-AZ) แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นด้วยเข็ม 3 ทำให้ภูมิคุ้มกันแบบลบล้างฤทธิ์สูงขึ้นต่อทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อยหลัง 2 สัปดาห์ (รูปที่ 1)
นอกจากนี้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อติดตามดูกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มเท่านั้นนาน 4 สัปดาห์หลังเข็ม 2 ในกลุ่มหลักที่ได้รับวัคซีน SV-SV และ AZ-AZ พบว่าภูมิคุ้มกันเฉลี่ยที่เกิดขึ้นต่อสายพันธุ์ย่อย BA.2 ลดลงอย่างมากซึ่งไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยBA.2(รูปที่ 2)
ส่วนการติดตามหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นาน 3 เดือนในกลุ่ม SV-SV-AZ และ SV-SV-Pf พบว่าภูมิคุ้มกันเฉลี่ยต่อสายพันธุ์ BA.2 ลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้(รูปที่ 3)
จากข้อมูลเบื้องต้นนี้จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มหรือ 3 เข็มกระตุ้นจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 สูงกว่า BA.1 และผู้ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม นาน 1 เดือน ควรได้รับเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนทุกสูตรเมื่อครบ 2 โดสแล้วควรกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย Pf หรือ AZ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้เพิ่มขึ้นและป้องกันการเกิดโควิด 19 ได้ดีกว่าการได้รับเพียง 2 เข็ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยลดการนอนโรงพยาบาล การเกิดความรุนแรงถึงปอดอักเสบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงขอแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น (booster dose)โดยเร็วในคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็มนอกจากนั้นจะติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในประเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
โดย สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์