การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม หลังจากได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกัน มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูง โดยสามารถลดความเสี่ยงได้ถึง 89% และเมื่อได้รับการฉีดเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่ พบว่าระดับการป้องกันเชื้อไวรัสสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีน จากผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และคณะ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน International Journal of Infectious Diseases1 จากทุกสูตรวัคซีนที่ทำการศึกษา (ทั้งในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเข็มหลักชนิดเดียวกัน หรือ วัคซีนต่างชนิดกัน) บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันได้ในระดับสูงไม่แตกต่างกัน[1]
จากการพิจารณาข้อมูลล่าสุด รวมถึงผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ และคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกัน (Strategic Advisory Group of Experts - SAGE) องค์การอนามัยโลกจึงได้ทำการปรับคู่มือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น โดยครอบคลุมการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งรวมถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหรือเข็มที่สี่ ในการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ทุกรูปแบบ[2]
ทางองค์การอนามัยโลกยังได้สรุปว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น แทนวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์และชนิด mRNA[3]
ผลการศึกษาจากข้อมูลชุดเดียวกัน ที่ได้รับการตีพิมพ์แบบฉบับ preprint ใน Research Square ไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สาม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูงเทียบเท่าวัคซีนชนิด mRNA[4]
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาร่วมกับคณะทำงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ดี เมื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหรือเข็มที่สี่ ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวได้สนับสนุนการฉีดวัคซีนในแบบสูตรไขว้ต่างๆ หรือแบบ ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น"
นายจอห์น เปเรซ รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาขั้นสุดท้าย ฝ่ายวัคซีนและภูมิคุ้มกันบำบัด แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลล่าสุดนี้ ช่วยสนับสนุนและเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งสามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงการเกิดโรครุนแรง รวมถึงลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต โดยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ทั้งในฐานะวัคซีนเข็มหลักและวัคซีนเข็มกระตุ้น”
ปัจจุบัน แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลกได้ส่งมอบวัคซีนแล้วกว่า 3 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดย 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าว ได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 6 ล้านชีวิต อ้างอิงจากในช่วง 12 เดือนแรกที่มีการใช้วัคซีน[5]
เกี่ยวกับผลการศึกษา
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยการใช้ข้อมูลชุดเดียวกันในการศึกษาสองหัวข้อการวิจัย ได้แก่ ประสิทธิผลของวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามและที่สี่ ในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (International Journal of Infectious Diseases1) และประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Research Square2)
ประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบต่างชนิดกัน ในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน[1]
- การศึกษาในรูปแบบ retrospective cohort study ในกลุ่มประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีผลตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 เป็นบวก ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2564 (ช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา) และ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 (ช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน)
- การเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ (IMV) ระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ เสียชีวิตระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
- ช่วงการระบาดหนักของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ 89% เมื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม (HR 0.11, 95% CI 0.08-0.18) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนแบบต่างชนิดกัน ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน[4]
- การศึกษาในรูปแบบ Test-negative Case-control Study เพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบต่างชนิดกัน หรือวัคซีนสูตรไขว้ ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (โควิด-19)
- การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบต่างชนิดกันสามเข็ม (วัคซีนสองเข็มหลัก และวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม) ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2564) และประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามและเข็มที่สี่ ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (1 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2565) โดยการวิจัยในช่วงเวลาที่สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด มีผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จำนวน 27,301 คน (2,130 คนมีผลตรวจเป็นบวก และ 25,171 คนมีผลตรวจเป็นลบ) และในช่วงเวลาที่สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาด มีผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จำนวน 36,170 คน (14,682 คนมีผลตรวจเป็นบวก และ 21,488 คนมีผลตรวจเป็นลบ)
- ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่ทุกชนิด ซึ่งรวมถึง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนสูงถึง 75% (95% CI 71-80%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า อยู่ที่ 73% (95% CI 48-89%) ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับวัคซีนชนิด mRNA ที่มีค่าประสิทธิผลอยู่ที่ 71% (Mod 95% CI 59-79%; PFZ 95% CI 60-79%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนดังกล่าวถูกปรับเพื่อขจัดอิทธิพลจากตัวแปรต่างๆ ได้แก่ อายุ เพศ เวลาการรับวัคซีนตามปฏิทิน และประเภทของสูตรวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีน เซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนชนิด ‘ไวรัลเวคเตอร์’ หรือ ‘ไวรัสพาหะ’ ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเรียนรู้ว่าจะต่อสู้กับเชื้ออย่างไรหากสัมผัสกับไวรัสจริงในภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนวิธีนี้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซิกา อีโบลา และเอชไอวี7 เป็นต้น
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดีต่อผู้ที่ได้รับวัคซีน ตามการศึกษาทดลองทางคลินิกและการใช้งานจริงจากผู้คนหลายสิบล้านชีวิตทั่วโลก[8-13] ผลอ้างอิงจากประชากรหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ กดเจ็บ ปวด ร้อน คัน หรือฟกช้ำบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย มีไข้ และหนาวสั่น15 ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวนี้มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางและหายได้เองในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากได้รับวัคซีน[15] วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นทั้งวัคซีนเข็มหลักและวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 สำหรับการฉีดวัคซีนทั้งในแบบชนิดเดียวกัน (homologous) และแบบต่างชนิดกัน (heterologous)
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาใน 34 ประเทศทั่วโลก และได้รับการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขหรือใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 20 ประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งช่วยเร่งให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศ ผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ (COVAX)
ภายใต้ข้อสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วง (sub-license agreement) กับแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกผลิตและส่งมอบโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า COVISHIELD
อ้างอิง
- Intawong K, et al. Heterologous third and fourth dose vaccines reduce severity and mortality in COVID-19 patients during the periods of delta and omicron predominance in Thailand. International Journal of Infectious Diseases. DOI: https://doi.org/10.1016/j.ijid.2022.11.006 Available at: https://www.ijidonline.com/article/S1201-9712(22)00593-8/fulltext?dgcid=raven_jbs_aip_email Accessed: November 2022
- WHO Good Practice Statement on the use of second booster doses for COVID-19 vaccines. Available at https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE-good-practice-statement-second-booster. Accessed: October 2022
- WHO Good practice statement on the use of variant-containing COVID-19 vaccines. Available at https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-Vaccines-SAGE-Variants-2022.1 Accessed: October 2022
- Intawong, K et al. Effectiveness of heterologous third and fourth dose COVID-19 vaccine schedules for SARS-CoV-2 infection during delta and omicron predominance in Thailand: A test-negative, case-control study. The Lancet Regional Health - Southeast Asia, 2022, https://doi.org/10.1016/j.lansea.2022.100121
- Data estimates based on model outcomes from separate analyses conducted by Airfinity and Imperial College, United Kingdom. AstraZeneca Data on File. REF-156573, 11 July 2022
- Centers For Disease Control and Prevention. Understanding Viral Vector COVID-19 Vaccines. Available at: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/viralvector.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fvaccines%2Fcovid-19%2Fhcp%2Fviral-vector-vaccine-basics.html. Accessed: October 2022
- Burn, E et al, Thrombosis and thrombocytopenia after vaccination against and infection with SARS-CoV-2: a population-based cohort analysis. Available at: https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.29.21261348v1.full. Accessed: October 2022
- Burn, E et al, Thromboembolic Events and Thrombosis With Thrombocytopenia After COVID-19 Infection and Vaccination in Catalonia, Spain. Available at SSRN: https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=3886421. Accessed: October 2022
- P. Bhuyan et al. Very rare thrombosis with thrombocytopenia after second AZD1222 dose: a global safety database analysis. Lancet. Available at: https://www.thelancet.com/pdfs/journals/lancet/PIIS0140-6736(21)01693-7.pdf. Accessed: October 2022
- Laporte JR et al. Vaccines against Covid-19, venous thromboembolism, and thrombocytopenia. A population-based retrospective cohort study. Available at https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.23.21261036v1. Accessed: October 2022
- Voysey M, et al. Single-dose administration and the influence of the timing of the booster dose on immunogenicity and efficacy of ChAdOx1 nCoV-19 (AZD1222) vaccine: a pooled analysis of four randomised trials. The Lancet 2021; 397: 881-91. Accessed: July 2022.
- Falsey A, et al. Phase 3 safety and efficacy of AZD1222 (ChAdOx1nCoV-19 Vaccine. NEJM. Available at: https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2105290?query=featured_coronavirus. . Accessed: October 2022
- Flaxman A, et al. Reactogenicity and immunogenicity after a late second dose or a third dose of ChAdOx1 nCoV-19 (AZ2021D1222) in the UK: a substudy of two randomized controlled trials (COV001 and COV002). The Lancet 2021; 398: 981-90. Accessed: July 2022.
- WHO Summary of Product Characteristics. COVID-19 Vaccine AstraZeneca. December, 2021; https://www.covax.azcovid-19.com/content/dam/azcovid/pdf/covax/who-clean-smpc-azd1222-en.pdf. Accessed: October 2022