คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอดังนี้
- เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับ ประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ในวงเงิน 6,049,723,117.- บาท โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท และให้กรมควบคุมโรคจัดทำสัญญาในการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้านั้น เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ (Purchase Agree For Supply of AZD1222 in Thailand; PA)) ในวงเงิน 3,670,292,517.- บาท โดยให้ดำเนินการจัดทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นสัญญาในโครงการที่เกี่ยวข้องแบบสัญญาเป็นชุด ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุในร่างสัญญา โดยให้จัดทำในคราวเดียวกัน โดยสัญญาจัดซื้อวัคซีนมีผลผูกพันเมื่อได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ให้กรมควบคุมโรคจัดทำคำของบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนตามสัญญาดังกล่าวต่อไป
- อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้า ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) จากบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด ภายใต้เงื่อนไขว่า มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ
สาระสำคัญ
- โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) สำหรับ ประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยการจองล่วงหน้า สำหรับให้บริการแก่ประชาชนไทยได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ภายใต้กรอบวงเงิน 6,049,723,117.- บาท ประกอบด้วย
1) เงินจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า วงเงิน 2,379,430,600 บาทรับผิดชอบโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งหนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0723/3471 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 แจ้งว่าได้นำเรื่องนี้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้วนายกรัฐมนตรีมีบัญชาอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้าแบบทวิภาคี กับผู้ผลิตวัคซีนบริษัท AstraZeneca จำกัด ตามนัยพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 18 มาตรา 21 และมาตรา 22 โดยมีสาระสำคัญในการทำความตกลงและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยี่ยวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป ภายในวงเงิน 2,379,430,600 บาท
2) เงินจัดซื้อวัคซีน ที่ได้จากการจองล่วงหน้า มื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586,287,067.- บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
3) เงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084,005,450.- บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
- ระยะเวลาดำเนินการ
เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง ธันวาคม 2564
- เป้าหมาย
จำนวนวัคซีนที่จะดำเนินการจัดหา โดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ได้แก่ บริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด จำนวน 26 ล้านโด๊ส
- ประโยชน์ที่ได้รับ
ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และจะทำให้ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่าสี่แสนล้านบาท
- ผลผลิต
จำนวนวัคซีน 26 ล้านโด๊ส สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 13 ล้านคน
- ผลลัพธ์
ประชากรกลุ่มเป้าหมายตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
- ผลกระทบ
ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
- หน่วยงานรับผิดชอบ
กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค