ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว

สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว Thumb HealthServ.net
สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว ThumbMobile HealthServ.net

สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว

สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว HealthServ
สธ.ยันผู้ป่วยโควิด 19 จากท่าขี้เหล็ก 10 ราย อยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว
 
    กระทรวงสาธารณสุขแจงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 10 ราย ข้ามมาจากท่าขี้เหล็ก ขณะนี้เข้าสู่ระบบการรักษา ติดตามผู้สัมผัสได้มีทั้งหมด 699 คน ขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม ภายใน 14 วันหากไม่พบการติดเชื้อถือว่าจบการระบาด ยันประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขอหน่วยงานต่าง ๆ ควบคุมโรคอย่างเหมาะสมตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ
 
          วันนี้ (3 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสวนโรคผู้ป่วยโควิด 19 ที่มาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
 
          นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก มีการติดเชื้อเกือบ 65 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มการติดเชื้อมากขึ้น สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 10 ราย ที่มาจากท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เข้ามาทางเส้นทางธรรมชาติ ทั้งหมดอยู่ในแผนการควบคุมโรคแล้ว คือ อยู่ในสถานที่เพื่อกักกันและรักษา สามารถสอบสวนโรคได้อย่างละเอียด ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ หากภายใน 7 วันยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ หาก 10 วันไม่มีผู้ติดเชื้อเรียกว่าปลอดภัย และ 14 วันไม่พบการติดเชื้อเป็นการจบการระบาด อย่างไรก็ตาม คนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ขอให้เดินทางกลับเข้ามาอย่างถูกต้อง การลอบเดินทางเข้ามาจะเพิ่มความเสี่ยงการนำเชื้อเข้ามาในประเทศไทย และขอความร่วมมือผู้ที่กลับเข้ามาโดยไม่ผ่านการกักกัน 14 วัน ให้มารายงานตัวกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อรับการตรวจหาเชื้อและติดตามเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย
           นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จังหวัดที่พบผู้ป่วยโควิด 19 ทั้ง 10 รายนี้ ยืนยันว่า ยังมีความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้จะอยู่ในอำเภอเดียวกัน แต่เป็นคนละตำบลก็ถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ดังนั้น ความเสี่ยงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่อยู่ที่ว่าไปสัมผัสตรงไหนและกับใคร ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานหรือสถานที่ต่างๆ มีการควบคุมโรคที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับการเฝ้าระวังการข้ามแดนตามธรรมชาติมีการเตรียมความพร้อมแล้วในชายแดนทุกภูมิภาค ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงาน โรงเรียน และสถานประกอบการต่างๆ แล้ว
 
          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 10 รายที่มาจากท่าขี้เหล็ก อยู่ที่เชียงใหม่ 3 ราย เชียงราย 3 ราย กรุงเทพมหานคร 1 ราย พะเยา 1 ราย พิจิตร 1 ราย และราชบุรี 1 ราย ส่วนใหญ่เมื่อเดินทางกลับเข้ามามีการไปเที่ยวและกลับไปที่ภูมิลำเนาเดิม จากการติดตามสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสเสี่ยงรวม 699 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 175 ราย ผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ และจะมีการตรวจซ้ำจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัว มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 524 ราย ได้คุมไว้สังเกตอาการ โดยในการพิจารณาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ขึ้นกับพฤติกรรมของแต่ละบุคคล หากผู้ติดเชื้อใส่หน้ากากความเสี่ยงจะน้อยลง และถ้าผู้สัมผัสใส่หน้ากากด้วย ความเสี่ยงก็จะลดน้อยลงอีก แต่ถ้าไม่ใส่หน้ากากเลยและพูดคุยกันเกิน 5 นาที จะเข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง หรือการอยู่กับผู้ติดเชื้อในสถานที่แคบอากาศไม่ถ่ายเทเป็นเวลา 15 นาทีถือว่ามีความเสี่ยงสูงเช่นกัน สำหรับเครื่องบิน ผู้ที่นั่งอยู่ 2 แถวหน้าและ 2 แถวหลังผู้ป่วยโดยไม่ใส่หน้ากากถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เนื่องจากข้อบังคับบนเครื่องบิน กำหนดให้ผู้โดยสารและพนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน โอกาสเสี่ยงจึงน้อยลง                                                                            
 
          “มาตรการป้องกันควบคุมโรคผู้เดินทางมาจากเมียนมา ฝ่ายความมั่นคงจะป้องกันตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจความต้องการเดินทางกลับของคนไทยที่ทำงานในฝั่งท่าขี้เหล็ก เพื่อจัดระบบรองรับการกักกัน ฝ่ายปกครองจะช่วยสอดส่องค้นหาภายในประเทศและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยมี อสม.เคาะประตูบ้านช่วยดูแลชุมชน หากพบมีคนกลับมาจากท่าขี้เหล็กให้รายงานทันที และขอให้ประชาชน โดยเฉพาะเจ้าของบ้าน บ้านเช่า โรงแรม คอนโด สถานประกอบการ สถานบันเทิง ถ้าพบใครมาจากท่าขี้เหล็กตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะความเสี่ยงจะอยู่กับตัวเอง ครอบครัว และชุมชน รวมถึงคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สแกนไทยชนะ ติดตามข่าวราชการและปฏิบัติตามที่ราชการกำหนด ถ้าคนไทยร่วมมือกันจะควบคุมโรคได้ดี” นายแพทย์โอภาสกล่าว
 
สำนักสารนิเทศ 
3 ธันวาคม 2563

ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จำนวน 10 ราย

 ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จำนวน 10 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยเก่าที่แถลงข่าวไปแล้ว 4 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 6 ราย เป็นเพศหญิงทั้งหมด โดยเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงเดียวกันที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก มีรายละเอียดดังนี้
 
  1. รายที่ 1-4
    เพศหญิงอายุ 29 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพศหญิงอายุ 26 ปี 23 ปี และ 25 ปีที่จังหวัดเชียงราย จากการตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสขณะนี้ยังไม่พบผู้ใดติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของรายที่เชียงใหม่ ที่มีการไปเที่ยวสถานบันเทิงด้วยกัน มีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ก็ยังไม่พบการติดเชื้อเช่นกัน
  2. รายที่ 5
    เพศหญิงอายุ 28 ปี จังหวัดพะเยา กลับเข้าประเทศไทยวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยเส้นทางธรรมชาติมายังอำเภอแม่สาย วันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อนขับจักรยานยนต์มาส่ง จากนั้นเหมารถแท็กซี่มาที่อำเภอเมืองเชียงราย พักห้องเช่าของเพื่อน มีออกไปซื้ออาหาร วันที่ 29 พฤศจิกายน อยู่ในห้องพัก ช่วงเย็นแฟนขับรถยนต์พาไปเที่ยวงานสิงห์ปาร์ค แต่อยู่เฉพาะลานเบียร์ จากนั้นไปโรงแรมที่พัก วันที่ 30 พฤศจิกายน ออกจากโรงแรมไปรับการตรวจหาเชื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางกลับพะเยามาเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค โรงพยาบาลพะเยา วันที่ 1 ธันวาคม ทราบผลว่าเป็นโควิด 19  
  3. รายที่ 6
    เพศหญิงอายุ  21 ปี กรุงเทพมหานคร วันที่ 17-27 พฤศจิกายน ไปเที่ยวสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็กพร้อมเพื่อนที่อยู่จังหวัดพิจิตร วันที่ 28 พฤศจิกายน กลับเข้าประเทศไทยโดยเส้นทางธรรมชาติที่อำเภอแม่สายมีรถจักรยานยนต์รับจ้างมาส่งที่โรงแรม ต่อมาเริ่มมีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก จากนั้นเรียกรถไปส่งที่สนามบินเชียงรายขึ้นเครื่องบินมาลงสนามบินดอนเมือง นั่งแท็กซี่กลับที่พัก วันที่ 29 พฤศจิกายน ไปรับการตรวจที่คลินิกแพทย์ได้รับคำแนะนำให้ไปโรงพยาบาล จึงนั่งรถยนต์ส่วนตัวมากับแฟนไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน ผลการตรวจพบเชื้อโควิด 19
  4. รายที่ 7
    เพศหญิงอายุ 25 ปี จังหวัดพิจิตร เป็นเพื่อนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็กกับรายกรุงเทพมหานคร โดยเดินทางกลับมาพร้อมกันจนถึงสนามบินดอนเมืองเมื่อวันที่ 28พฤศจิกายน จากนั้นต่อเครื่องไปลงสนามบินพิษณุโลก มีเพื่อนมารับกลับจังหวัดพิจิตร พักอาศัยกับเพื่อนที่มารับ โดยวันที่ 28-30 พฤศจิกายน มีออกไปรับประทานอาหารข้างนอกและทำเล็บ วันที่ 1 ธันวาคม เมื่อทราบผลการสอบสวนโรคของรายกรุงเทพมหานคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรจึงติดตามมาตรวจหาเชื้อ นำเข้าสู่การกักกัน และ ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ
  5. รายที่ 8
    เพศหญิงอายุ 36 ปี จังหวัดราชบุรี วันที่ 3-28 พฤศจิกายนอยู่ที่เมียนมา โดยวันที่ 23-24 พฤศจิกายนไปเที่ยวสถานบันเทิง แล้วสังเกตว่าเพื่อนร่วมห้องเริ่มมีอาการป่วย วันที่ 26 พฤศจิกายน ตนเองเริ่มมีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ จึงซื้อยามากิน วันที่ 29 พฤศจิกายน เดินทางกลับประเทศไทยโดยช่องทางธรรมชาติ จากนั้นไปสนามบินเชียงรายด้วยรถยนต์ของเพื่อน นั่งเครื่องบินถึงสนามบินดอนเมือง ขึ้นแท็กซี่ไปสถานีขนส่งหมอชิต นั่งรถตู้กลับจังหวัดราชบุรี เมื่อถึงใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างไปโรงพยาบาลเอกชนเพื่อตรวจรักษา วันที่ 1 ธันวาคม ทราบผลว่าเพื่อนติดเชื้อโควิด 19 แพทย์จึงส่งตรวจหาเชื้อและส่งต่อรักษาโรงพยาบาลราชบุรี วันที่ 2 ธันวาคม ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ
  6. รายที่ 9-10
    เพศหญิงอายุ 23 ปี และ 25 ปี จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 26 พฤศจิกายนเดินทางกลับเข้าประเทศทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมเพื่อนรวมเป็น 3 คน วันที่ 27 พฤศจิกายน นอนค้างบ้านเพื่อนที่อำเภอแม่สาย วันที่ 28 พฤศจิกายน เดินทางกลับมาที่พักที่เชียงใหม่ วันที่ 29พฤศจิกายน ให้ประวัติว่าอยู่ในที่พักตลอด วันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้ติดเชื้อที่พะเยามาหาหลังจากไปตรวจหาเชื้อ วันที่ 1 ธันวาคม ไปฟังผลแทนเพื่อนพบว่าราย จ.พะเยาติดเชื้อ ทำให้เพื่อน 2 คนมารับการตรวจด้วย ผลพบติดเชื้อ 2 ราย เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนครพิงค์ ส่วนอีกรายผลเป็นลบ อยู่ระหว่างการกักกันเฝ้าระวังอาการ
 
         นายแพทย์โสภณกล่าวว่า ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ โดยกำลังเร่งติดตามผู้สัมผัสทุกราย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายมีผู้สัมผัสมากน้อยต่างกัน หากมีความรับผิดชอบสูงจะแยกตัว มีกิจกรรมภายนอกน้อย ทำให้มีผู้สัมผัสน้อย แต่บางรายมีการออกไปทำกิจกรรมจำนวนมากทำให้มีผู้สัมผัสมากถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะได้รับการกักกัน 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจะให้แยกตนเองเฝ้าระวังอาการ หากมีอาการให้รีบติดต่อเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานของทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้งหมด 10 ราย พบว่า ไม่มีอาการ 5 ราย ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ที่มีอาการ ส่วนอีก 5 รายมีอาการแต่ไม่รุนแรง สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องอยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ในสถานที่เสี่ยงเดียวกับผู้ป่วยทั้ง 10 รายนี้ ขอให้ไปแสดงตัวกับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนเอง

ข่าวสาธารณสุข  2 ธค 63
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด