รัฐบาลในหลายประเทศได้ทยอยทำการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการติดโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของ Our World in Data พบว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 64 ในหลายประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ไปแล้วมากกว่า 359.4 ล้านโด๊ส หรือเทียบเท่ากับ 4.7 โด๊ส สำหรับทุกๆ 100 คน โดยประเทศที่มีประชากรได้รับวัคซีนครบโด๊สตามเกณฑ์สูงสุดเมื่อเทียบสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ ได้แก่ อิสราเอล เซเซลส์ และบาห์เรน และจากความคืบหน้าการฉีดวัคซีนจึงทำให้เกิดแนวคิดการใช้วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโด๊สตามที่กำหนด เป็นหนึ่งในเครื่องมือเข้ามาช่วยคัดกรองและลดอุปสรรคในการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศสามารถขับเคลื่อนได้
ปัจจุบัน มีประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนนำระบบวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ ได้แก่ กรีซ ไซปรัส และอิสราเอล ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต เพื่อให้ประชาชนผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 641 และประเทศฝรั่งเศส ได้ทดลองการใช้วัคซีนสปอร์ตเฉพาะในกลุ่มเขตปกครองของฝรั่งเศส ผ่านแอพพลิเคชั่น ICC AOKpass (หมู่เกาะทางแคริบเบียน ได้แก่ มาร์ตีนิก และกัวเดอลุป (French Caribbean territories of Martinique and Guadeloupe)) ขณะที่จีนมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น Virus Passport เพื่อใช้ยืนยันว่าประชาชนของตนได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
และยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ที่กำลังพิจารณาวางมาตรฐานการออกวัคซีนพาสปอร์ตร่วมกัน โดยคาดหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ในฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในยุโรป อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางในแต่ละประเทศก็มีการวางแผนการใช้วัคซีนสปอร์ต และการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดลงในโทรศัพท์มือถือจากเว็บไซต์ของทางการเพื่อเป็นหลักฐานติดตัวไปในการเดินทาง เช่น สเปน ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงคิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศ มีแผนจะใช้วัคซีนพาสปอร์ตในเดือน พ.ค. 64 นี้ ขณะที่ทางการเดนมาร์กและสวีเดน อยู่ระหว่างการพัฒนาดิจิทัลวัคซีนพาสปร์ต เป็นต้น สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ทางการหลายประเทศมีแผนการใช้วัคซีนพาสปอร์ต เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย (ออสเตรเลียมีแผนจะทำข้อตกลงร่วมกับสิงคโปร์ในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต) นอกจากนี้ ทาง International Air Transport Association (IATA) กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น Travel Pass App เพื่อให้ข้อมูลรับรองผู้โดยสารที่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แก่สายการบินและทางการประเทศจุดหมายปลายทางอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการใช้วัคซีนพาสปอร์ต โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการลดวันกักตัวสำหรับชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย โดยชาวต่างชาติมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน ไม่เกิน 3 เดือน เอกสารรับรองปลอดโควิดใน 72 ชั่วโมง และตรวจหาเชื้ออีกครั้งในประเทศไทยไม่พบเชื้อลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาให้กักตัว 14 วัน ขณะที่ชาวต่างชาติไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด มีเพียงเอกสารรับรองปลอด
โควิด 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ยังต้องรอนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นไป และในระยะต่อไป กรณีที่ทางการไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ก็อาจจะมีการผ่อนคลายโดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64
แนวทางดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อทิศทางการท่องเที่ยวของไทย แต่ในระยะเริ่มต้นการเดินทางระหว่างประเทศยังคงจำกัดอยู่บ้าง จากข้อจำกัดเรื่องของการกักตัว โดยเบื้องต้นเน้นทำตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีวันพักยาวอย่างนักท่องเที่ยวยุโรป ตะวันออกกลาง และโอเชียเนียอย่างออสเตรเลีย ขณะที่ในระยะถัดไปเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียมากขึ้น แน่นอนว่าในระยะข้างหน้า ในหลายประเทศคงจะนำระบบวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการพัฒนาให้เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น นอกจากการคุมโควิดและการฉีดวัคซีนตามแผน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทางหน่วยงานภาครัฐรวมถึงภาคเอกชนคงจะต้องเริ่มวางแผนเชิงรุกกับประเทศที่ใช้วัคซีนพาสปอร์ต โดยสรุป กรณีที่มาตรการของทางการสามารถดำเนินการได้ตามแผน และไม่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จนเป็นอุปสรรคต่อแผนการเปิดประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีโอกาสแตะที่ 2 ล้านคน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
Econ Digest
19 มีนาคม 2564