“ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย”
พระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
องค์พระราชบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยและองค์พระราชบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย
จากพระราชดำรัสที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงให้ไว้แก่เหล่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมได้อย่างมีเกียรติและเท่าเทียมกันต่อเพื่อนมนุษย์ ทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่ไม่ได้มองเป็นเพียงคนไข้เท่านั้น แต่ยังมองว่าเป็นครอบครัว ส่งผลให้มีการรักษาอย่างเท่าเทียมเสมอมา
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการสาธารณสุขที่ทรงพระราชทานความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกแถบเขตปริมณฑล โดยเฉพาะในบริเวณอำเภอบางพลี อันเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก และมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีสถานพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดี และความต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาล อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในด้านแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ของพื้นที่เดิมมีอยู่อย่างจำกัด
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 และทรงเป็นประธานพิธีเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560
รูปแบบการดำเนินงาน
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลตะวันออก อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ประมาณ 319 ไร่ ดำเนินการทั้งในรูปแบบของโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ และสถานที่วิจัย โดยสามารถผลิตบัณฑิตแพทย์ บัณฑิตพยาบาล รวมถึงบัณฑิตวิทยาศาสตร์สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ รวมทั้งสิ้น 546 คนต่อปี มีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก 460 เตียง
เนื่องจากสถาบันนี้อยู่ในส่วนภูมิภาคพร้อมให้บริการทางการแพทย์ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมการรักษาตั้งแต่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เน้นการรักษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย และผู้ป่วยระยะสุดท้าย เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในทุก ๆ ขั้นตอนของสายธารการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร
สถาบันการแพทย์ต้นแบบในอนาคต
นอกจากจะเป็นความหวังและที่พึ่งพิงใหม่ของประชาชนในด้านการรักษาแล้ว สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ยังเป็นโรงเรียนสำหรับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล อาจารย์แพทย์ ในการเรียนรู้วิชาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เป็นสถานที่ฝึกอบรบแพทย์ประจำบ้านเพื่อเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หลักสูตรเด่นของสถาบันแห่งนี้คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ซึ่งมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น
โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
ในฐานะโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่การตรวจรักษาทั่วไปจนถึงเฉพาะทาง เช่น การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยการสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
มีหอผู้ป่วยวิกฤตเด็กและทารกแรกเกิด เป็นต้น รวมถึงการรักษาในภาวะฉุกเฉิน เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารหรือปอด หน่วยไตเทียม ศูนย์อุบัติเหตุ
เน้นการจัดการด้านการบริการเพื่อควบคุมปริมาณผู้ป่วยให้สอดคล้องกับอัตรากำลังของบุคลากรที่มีอยู่ ไม่ให้แออัดจนเกินไป ด้วยการให้ผู้ป่วยนัดหมายล่วงหน้า และพัฒนาการรักษาแบบบูรณาการให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่โควิด -19 ขึ้น สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ของโรงพยาบาลรามาธิบดี และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือดูแลผู้ป่วยวิกฤตจากโรคต่างๆ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ขอเชิญชวนบริจาคเงินจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ให้แก่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เพื่อเตรียมพร้อมเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคติดต่อต่างๆ
รวมถึงเพื่อการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก เช่น กล้องส่องตรวจปอดและหลอดลม เครื่องเอ็กซเรย์ระบบดิจิทัลต่าง ๆ เป็นต้น โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการรักษาพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ป่วย
คำว่าให้ไม่สิ้นสุด