ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 : แก้ไขปัญหาการอุ้มบุญ

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 : แก้ไขปัญหาการอุ้มบุญ

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 : แก้ไขปัญหาการอุ้มบุญ
 
 มาลินี คงรื่น
 ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริการวิชาการ 3
 กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
 
 
ปัญหาของการอุ้มบุญ
การอุ้มบุญที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายแพทย์ เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งระบบ ปัญหาของการอุ้มบุญในประเทศไทยและต่างประเทศมีต่างกัน หากเด็กมีความน่ารัก สุขภาพสมบรูณ์ มักไม่มีปัญหาแก่ทุกฝ่าย แต่หากเด็กมีความพิการก็เกิดปัญหาไม่มีใครอยากเลี้ยงดูเด็กคนนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมอย่างยิ่งเพราะไม่มีใครรับผิดชอบเด็กจึงมีเพียงแม่อุ้มบุญรับเลี้ยงดูไว้ 
 
ปัญหาของการอุ้มบุญที่ปรากฏในสื่อ ได้แก่ ปัญหาแย่งเด็กถ้าเด็กน่ารัก แต่ถ้าเกิดความผิดพลาด เด็กออกมาพิการไม่สมประกอบ ปัญหาจะกลายเป็นตรงข้ามแทน ตามกฎหมายไทยแม่เด็กก็คือคนคลอด ต้องรับเลี้ยงเด็ก กระบวนการอุ้มบุญมีความซับซ้อนมากบางทีถึงขั้นผู้จ้างพาผู้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญไปทำบัตรประชาชนปลอมให้เป็นชื่อหญิงฝ่ายผู้จ้าง แล้วเอาบัตรประชาชนนั้นไปคลอดที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดก็มี เพื่อให้ผู้จ้างเป็นแม่ตามกฎหมายแล้วก็ใช้ประเด็นนี้ข่มขู่ ฝ่ายอุ้มบุญก็มีชนักติดหลังฐานใช้เอกสารเท็จทำให้มีปัญหาต่อไปอีกไม่สิ้นสุด
 
ชีวิตของหญิงอุ้มบุญเป็นอย่างไร
ผู้ศึกษาขอนำเสนอข้อมูลการอุ้มบุญในประเทศอินเดีย โดยปกติแล้วไม่มีการเปิดเผยชีวิตของผู้หญิงอุ้มบุญ คลินิกอุ้มบุญในกรุงนิวเดลียอมให้สื่อมีโอกาสสัมผัสกับโลกของการอุ้มบุญว่ามีความสำคัญอย่างไร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอุ้มบุญ
 
กรณีตัวอย่าง หญิงชาวอินเดียชื่อ ไซด้า ทาปา มีลูก 2คน ลูกของเธออายุ 16 และ 18 ปี แล้ว นอกจากนี้
เธอยังเป็นแม่อุ้มบุญให้กับหนูน้อยลิลลี่ ชาวออสเตรเลียอีกด้วย เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนเธอให้กำเนิดหนูน้อยลิลลี่ เธอไม่ได้มองหน้าลิลลี่ด้วยซ้ำ เพราะว่าหน้าที่ของเธอสิ้นสุดแล้ว เธอเองก็มีลูกเป็นของตัวเองแล้ว หนูน้อยลิลลี่ กำลังฉลองวันเกิดครบ 1 ขวบของเธอกับครอบครัวที่ประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่แม่อุ้มบุญของเธอระลึกถึง วันที่ให้กำเนิดลิลลี่เช่นกัน


 
ไม่ใช่ลูกของเรา
แน่นอนว่าแม้จะไม่ใช่ลูกจากสายเลือดของตัวเองแท้ ๆ แต่แม่อุ้มบุญก็มีเด็กอยู่ในท้องนานถึง 9 เดือน ก็น่าจะมีความผูกพันกันบ้าง แต่ทาปาบอกว่า ทางคลินิกจัดอบรม การเตรียมความพร้อมทางจิตใจให้แก่หญิงรับจ้างอุ้มบุญทั้งหลายว่าเด็กที่เกิดมาไม่ใช่ลูกของเรา
 
 
ธุรกิจราคาแพง
ธุรกิจอุ้มบุญกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูอย่างมากในอินเดีย สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำทางธุรกิจประเมินว่า อุตสาหกรรมอุ้มบุญ ทำรายได้ปีละกว่า 2,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวต่างชาติจ านวนมากที่ไม่สามารถมีลูกเองได้กำลังมองหาหนทางการเป็นพ่อและแม่ด้วยวิธีที่ถูกกฎหมายและราคาไม่แพง โดยค่าใช้จ่ายโดยรวมของการอุ้มบุญในอินเดียอยู่ที่ 28,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 840,000 บาท ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทางฝั่งตะวันตกมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1 ล้าน – 1.5 ล้านบาท


หญิงอุ้มบุญคือโรงงานผลิตลูก?
การที่ชาวต่างชาติยอมจ่ายเงินให้แก่คนยากจนในอินเดียเพื่อให้ได้ลูกนั้นกลับสร้างความวิตกด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการอุ้มบุญในอินเดีย คลินิกอุ้มบุญในอินเดียแสดงสถิติของปีที่ผ่านมาว่า คลินิกทำหน้าที่ดูแลการอุ้มบุญให้กำเนิดเด็ก 291 คน เด็กเหล่านี้กำลังใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กทั่วไปกับครอบครัวในประเทศแคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และบราซิล เจ้าของคลินิกต่าง ๆ บอกว่า ทางคลินิกเอาใส่ใจต่อการดูแลหญิงอุ้มบุญเป็นอย่างดี เพื่อที่จะทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรงเพื่ออนาคตของทั้งสองฝ่าย
 
ท้ายที่สุดแล้ว การอุ้มบุญก็สร้างความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ทาปาบอกว่า เธอต้องการเป็นแม่อุ้มบุญเพราะอยากได้เงินไปเข้าบัญชีเงินฝากเพื่ออนาคตของลูก ขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยเหลือคู่รักที่ไม่สามารถมี ลูกได้ ซึ่งเธอเองก็ภูมิใจที่สามารถเป็นผู้ให้กำเนิดทารก และเธอจะสวดภาวนาให้ทั้งครอบครัวมีความสุขตลอดไป ดังนั้นเรื่องอุ้มบุญเป็นเรื่องผิดสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมหรือไม่ที่สามารถจ่ายเงินให้หญิงอุ้มบุญเพื่อให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
 
 
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2558 วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรี ผู้เสนอ) ที่ประชุมลงมติสมควรประกาศเป็นกฎหมาย จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราขกิจจานุเบกษาเล่ม 132 ตอนที่ 38 ก/ หน้า 1/1 พฤษภาคม 2558 เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “อุ้มบุญ” เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมโดยทั่วไป เพราะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยผู้ที่มีบุตรยากให้มีบุตรได้ด้วยวิธีต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอุ้มบุญทั้งหมด ได้แก่ เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือ “เด็กอุ้มบุญ” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภรรยาไม่อาจตั้งครรภ์ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกระบวนการนี้ ต้องมีความเข้าใจในกฎหมายเรื่องอย่างดี เพราะมีข้อกฎหมายที่มีความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดที่จะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยในครอบครัว
 
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยาก สามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะการมีบุตรยากได้โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ อันมีผลทำให้บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ใน ปัจจุบันในเรื่องความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ในทางพันธุกรรม ดังนั้นเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดา มารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
 
พระราชบัญญัตินี้มีประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำเสนอข้อมูลโดยสรุปดังนี้
 
1. คำนิยามศัพท์
คำนิยามศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่
 
“อสุจิ” หมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย
 
“ไข่” หมายความว่า เซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง
 
“การผสมเทียม” หมายความว่า การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงเพื่อให้หญิงนั้นตั้งครรภ์โดยไม่มีการร่วมประเวณี
 
“เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” หมายความว่า กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม
 
“ตัวอ่อน” หมายความว่า อสุจิและไข่ของมนุษย์ซึ่งรวมกันจนเกิดการปฏิสนธิไปจนถึงแปดสัปดาห์
 
“ทารก” หมายความว่า ตัวอ่อนของมนุษย์ที่มีอายุเกินกว่าแปดสัปดาห์ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกมดลูกของมนุษย์
 
“การตั้งครรภ์แทน” หมายความว่า การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น


2. คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

2.1 คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือกคทพ. (มาตรา 6) ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ นายกแพทยสภา เป็นรอง
ประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยต าแหน่ง
เป็นต้น
 
2.2 “คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” มีอำนาจหน้าที่สรุปได้ดังนี้(มาตรา 7)
1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 
2) พิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามมาตรา 23
3) ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วีธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับการใช้ตัวอ่อนที่เหลือใช้จากการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อการศึกษาวิจัยตามมาตรา 37
4) ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศของแพทยสภาเกี่ยวกับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยประกาศของแพทยสภาดังกล่าวให้ใช้บังคับต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
2.3 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
 ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินงานเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และทะเบียนผู้ขอรับบริการ และรวบรวมข้อมูลและผลการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (มาตรา 14 )
 
3. การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
3.1 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ตามที่แพทยสภาประกาศกำหนดโดยให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา 15)
3.2 ก่อนให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จะต้องจัดให้มีการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนำมาใช้ดำเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ แพทยสภาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ (มาตรา 16)
 
4. เงื่อนไขในการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขในการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามมาตรา 21 มีดังนี้
1) สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี 
2) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อ 1
3) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ข้อ 1ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ 
4) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย
 
5. การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนกระทำได้กี่วิธีและมีข้อห้ามอะไร
การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนกระทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้ (มาตรา 22)
 1) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์
2) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
 
6. การผสมเทียมมีหลักเกณฑ์อย่างไร
การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียมที่แพทยสภากำหนด ส่วนการผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาคต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียม (มาตรา 19-20 )
 
7. รับจ้างตั้งครรภ์ได้หรือไม่
หญิงไม่สามารถรับจ้างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 24 ห้ามมิให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้ารวมทั้งห้ามกระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้า โดยเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน (มาตรา 27) และห้ามประกาศโฆษณาไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใดๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน (มาตรา 28 ) นอกจากนี้ผู้ใดฝ่าฝืนรับจ้างตั้งครรภ์ตามมาตรา 24 ต้องระวางโทษจ าคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท (มาตรา 48 )
 
8. ใครเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไม่ว่าจะเกิดจาก อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้บริจาค ไม่ว่าจะกระทำโดยการให้ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีซึ่งประสงค์จะมีบุตรเป็นผู้ตั้งครรภ์ หรือให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น ให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร ประเด็นที่สำคัญคือ ชายหรือหญิงที่บริจาคอสุจิหรือไข่ซึ่งนำมาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ หรือผู้บริจาคตัวอ่อนและเด็กที่เกิดจากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่บริจาคดังกล่าว ไม่มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก (มาตรา 29)
 
- การแจ้งเกิดเด็ก
ให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว (มาตรา 32)
 
- ห้ามปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน
ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน (มาตรา 33)
 
9. การควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
 - ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งรับฝาก รับบริจาค ใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน หรือทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อน (มาตรา 35)
 
 - ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน (มาตรา 42)
 
บทสรุปและข้อเสนอแนะของผู้ศึกษา
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองบุคคลที่อยู่ในกระบวนการเกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ให้ได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่าย เป็นการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานของสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
 
การเป็นหญิงอุ้มบุญมีข้อดีคือ เป็นผู้เสียสละที่เปิดโอกาสให้มีเด็กเกิดขึ้นทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น ส่วนข้อเสียคือ การตั้งครรภ์อาจยุติตามธรรมชาติเมื่อใดก็ได้หากร่างกายของหญิงอุ้มบุญไม่พร้อม ดังนั้นสุขภาพของหญิงอุ้มบุญมีส่วนสำคัญซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของหญิงอุ้มบุญได้
วิวัฒนาการของโลกมีอยู่เสมอเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม

.............................................................

https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-066.pdf
 
บรรณานุกรม
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558.  (1 พฤษภาคม 2558) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132/ตอนที่ 38 ก หน้า1-12 สืบค้น 3 สิงหาคม 2558 จาก http:// www.krisadika.co.th.
  • วรากรณ์ สามโกเศศ . (12 สิงหาคม 2557) . รู้จักทัวร์ “อุ้มบุญ” ในโลก . สืบค้น 14 สิงหาคม 2558  จาก http:// www.bangkokbiznews.com
  • สถาบันพระปกเกล้า. รายงานสรุปและวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี  ช่วยการเจริญทางการแพทย์ พ.ศ….. (2558) . สืบค้น 20 สิงหาคม 2558 จาก www. Kpi2.kpi.ac.th
  • สนช.ไฟเขียวผ่านพ.ร.บ. อุ้มบุญ กฎเข้มป้องไทยเป็น “ฮับอุ้มบุญ” (2558). สืบค้น 20 สิงหาคม 2558 จาก http:// www.banmuang.co.th /news/politic/9534
  • อุ้มบุญคืออะไร? อ่านมุมมองจากผู้หญิงที่รับจ้าง “อุ้มบุญ”(2558). สืบค้น 18 สิงหาคม 2558  จากhttp://www.theasianparent.com
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด