ในความเป็นจริง มะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดจากเชื้อเอชพีวีซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายและพบบ่อยที่สุดของการติด เชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยจากสถิติพบว่า 50-80% ของผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว มากกว่า 90% จะหายเองได้ มีส่วนหนึ่งที่เป็นเรื้อรังและก่อให้เกิดปัญหา
เชื้อเอชพีวีมี มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยทั่วไปเรามีการจัดเชื้อเอชพีวีเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง มีทั้งหมด 15 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อยคือสายพันธุ์ 16, 18, 45, 31, 33, ฯลฯ โดยพบว่าสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูก สายพันธุ์ 45, 31, 33 พบเป็นอันดับรองลงมาตามลำดับ และเป็นสาเหตุอีกประมาณ 10% ของมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นหากเราสามารถป้องกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เหล่านี้ได้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 80% เชื้อเอชพีวีอีกกลุ่มหนึ่ง คือสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่สายพันธุ์ 6, 11, 40, 42, 43, ฯลฯ เชื้อเอชพีวีกลุ่มนี้เป็นสาเหตุของหูดอวัยวะเพศ ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งแต่อย่างใด และหากเป็นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
เชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ รวมถึงการสัมผัสกันบริเวณอวัยวะเพศ
การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้หลายวิธี
ได้แก่
1. งด การมีเพศสัมพันธ์ เพื่อตัดโอกาสในการรับเชื้อเอชพีวี งดการมีคู่นอนหลายคน การใช้ถุงยางอนามัยอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ก็ป้องกันไม่ได้ 100%
2. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (แพปสเมียร์) อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
3. ฉีดวัคซีนเอชพีวี ซึ่งอาจป้องกันได้ 70-80% ในคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
การป้องกันที่ดีที่สุดคือทำทุกวิธีร่วมกัน อย่างไรก็ตามการป้องกันโดยงดการมีเพศสัมพันธ์อาจทำได้ยากในทางปฏิบัติ โดยทั่วไปการป้องกันที่ทำได้ง่ายกว่า คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำร่วมกับการฉีดวัคซีนเอชพีวี
ผู้หญิง หลายคนคิดว่าตัวเองตรวจคัดกรองเป็นประจำอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วจึงไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความจริงคือ ทั้ง 2 วิธีสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีที่ต่างกัน โดยการตรวจคัดกรองเป็นการตรวจดูความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก เนื่องจากตั้งแต่ผู้หญิงได้รับเชื้อเอชพีวีจนเป็นมะเร็งปากมดลูกอาจใช้เวลา 10-15 ปี ในระหว่างนี้ถ้ามารับการตรวจคัดกรอง แพทย์จะสามารถตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายได้ และสามารถรักษาได้ทันทีโดยอาจทำการจี้หรือผ่าตัดเอาเซลล์ที่มีความผิดปกติ ออก ถือเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยการตัดไฟแต่ต้นลม
อย่างไรก็ ตามการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยหากบริเวณที่มีการติดเชื้อเอชพีวี ลึกเข้าไปจากบริเวณปากมดลูกด้านนอก การตรวจคัดกรองโดยทั่วไป ถ้าทำไม่สม่ำเสมอ อาจตรวจไม่พบ เซลล์จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด ทางการแพทย์เรียกมะเร็งที่เกิดขึ้นด้านในนี้ว่า Adenocarcinoma ซึ่งมักมีความรุนแรงมากกว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยก็สูงกว่ามะเร็งที่เกิดบริเวณเซลล์ปากมดลูกด้าน นอก หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Squamous cell carcinoma มะเร็งแบบ Adenocarcinoma ที่ตรวจพบได้ยากนี้ มีเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16, 18, 45, 31, 33 เป็นสาเหตุถึงกว่า 90% ปัจจุบันพบมะเร็งชนิดนี้มากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20-25% ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด
การฉีดวัค ซีนเอชพีวีเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อเอชพีวีซึ่งถือเป็นสาเหตุโดยตรงของ มะเร็งปากมดลูกเข้าสู่ร่างกาย โดยผู้หญิงสามารถรับวัคซีนเอชพีวีได้ตั้งแต่อายุ 9-10 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังได้รับประโยชน์จากวัคซีนเช่นกัน
เปรียบ แล้วการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจดูผลจากอดีต คือถ้าติดเชื้อมา และเซลล์แสดงความผิดปกติแล้ว ก็รีบรักษาก่อนที่เซลล์ที่ผิดปกตินี้จะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนการฉีดวัคซีนเอชพีวี เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อเอชพีวีเข้าสู่ร่างกาย เป็นการป้องกันเพื่ออนาคต แต่ก็ยังป้องกันได้ประมาณ 70-80% ดังนั้นหากทำร่วมกันทั้ง 2 วิธีก็จะดีที่สุด
วัคซีนที่มีจำหน่ายใน ปัจจุบันมี 2 บริษัท หรือ 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นวัคซีน 4 สายพันธุ์ คือ 6,11, 16, และ 18 สามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้ 90% (สายพันธุ์ 6,11 ) และป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70% (สายพันธุ์ 16,18) อีกชนิดหนึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ซึ่งไม่สามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ (ซึ่งเป็นโรคจากไวรัส และติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน)
แต่มีข้อมูลว่าวัคซีนชนิด หลังนี้ใช้สารกระตุ้นภูมิต้านทานชนิดใหม่ในวัคซีนทำให้ร่างกายสามารถสร้าง ภูมิต้านทานได้สูงกว่าในเวลาที่เท่ากัน ทำให้คิดว่าอาจมีภูมิต้านทานนานกว่าและสามารถสร้างภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ อื่นที่มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกด้วยคือสายพันธุ์ที่ 45, 31 และ 33 ตามลำดับ ทำให้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้กว่า 80% (แทนที่จะเป็น 70%) ความจริงก็มีข้อมูลว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ก็มีการสร้างภูมิต้านทาน สายพันธุ์ 31 และ 33 ได้ด้วย แต่ความเข้มข้นของภูมิต้านทานต่ำกว่า และไม่ได้ครอบคลุมสายพันธุ์ 45 จึงอาจป้องกันได้ต่ำกว่า 70 - 80%
สรุป คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ ทำให้มีภูมิต้านทานมะเร็งปากมดลูกได้กว่า 80% และมีความเข้มข้นระดับภูมิต้นทานมากกว่าชนิด 4 สายพันธุ์ ในเวลาเท่ากัน ทำให้ตั้งสมมุติฐานว่าจะมีภูมิคุ้มกันนานกว่า ส่วนชนิด 4 สายพันธุ์ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้กว่า 70% และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ด้วย 90% เนื่องจากวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังมีใช้ไม่ถึง 10 ปี (ถึง พ.ศ. 2553) จึงยังไม่ทราบว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิด จะทำให้มีภูมิป้องกันได้นานตลอดชีวิตหรือไม่ ( คาดว่าอย่างน้อยนาน 10 ปี )
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหลายทางเลือกในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ผู้หญิงไทยก็ยังเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกอยู่มาก และยังไม่มีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งปากมดลูกอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อเอชพีวีเท่า นั้น แต่ยังเกิดจากตัวผู้หญิงเองที่ขาดความสนใจในเรื่องนี้ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าตนมีความเสี่ยง ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรับคำแนะนำเรื่องการป้องกันที่ถูกต้อง รวมทั้งการบริการทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังไม่สามารถ ครอบคลุมสตรีไทยส่วนใหญ่ด้วย
เราอาจพูดได้ว่า การป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุดนอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้ว อีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลย คือการที่คุณผู้หญิงต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ยอมรับว่าตัวเองก็อาจมีความเสี่ยงเช่นกัน และลุกขึ้นมาป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักจากมะเร็งปากมดลูก
ข้อควรรู้อื่น ๆ
1. ถ้าเป็นโรคเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วในสายพันธุ์ใด วัคซีนไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานและป้องกันสายพันธุ์นั้นได้
2. ประโยชน์สูงสุดคือฉีดวัคซีนเมื่อก่อนที่จะมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวี
3. แม้ติดเชื้อเอชพีวีบางสายพันธุ์แล้ว วัคซีนอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์ที่เหลือได้
4. มะเร็งปากมดลูกที่ยังมีมากเพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุมในประชากรสตรีส่วนใหญ่
5. หนึ่ง คอร์สของการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด จะให้ได้ผลเต็มที่ต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม คือ วันแรก ต่อไป 1 เดือน ต่อไป 6 เดือน ครั้งต่อไปจะฉีดอีกเมื่อไร ขึ้นอยู่กับทางการแพทย์ว่าภูมิต้านทานจะหมดเมื่อไร ในขั้นต้นนี้คาดว่าจะ อยู่ได้นาน 10 ปี
โดย พล.ต.รศ.นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช