ยาตีกันคืออะไร
ยาตีกัน หมายถึงการที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วย โดยผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลงก็ได้ หรือบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยาตีกันจะเกิดผลมากน้อยขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย
สาเหตุของยาตีกัน มาจากอะไร
- อาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ป่วย หรือ การได้รับยาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง แพทย์ หรือเภสัชกรคนละคน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งต้องรักษาต่อเนื่องและกินยาหลายขนาน เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มักได้รับยามาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งไม่ทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยรับประทานยาอะไรอยู่บ้างเป็นประจำ
- หรืออาจมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวผู้ป่วยเอง เช่น การที่ผู้ป่วยไปหาซื้อยา อาหารเสริม หรือแม้แต่สมุนไพรมารับประทานเอง นอกจากเกิดปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อนแล้ว ยังอาจเกิด “ยาตีกัน” ได้
กรณีตัวอย่างของยาตีกัน ที่พบได้บ่อย และเป็นอันตรายมีอะไรบ้าง
- ยาปฏิชีวนะบางชนิดจะตีกันกับยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่แล้ว เช่น ยาลดไขมัน ยาหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ทำให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ในผู้ป่วยบางคนอาจเป็นอันตรายได้
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ต้องระมัดระวังในการซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานร่วมด้วย เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากัน ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
- การรับประทานยาฆ่าเชื้อบางกลุ่ม ร่วมกับยาลดกรด หรือแคลเซียม เหล็ก วิตามินบางชนิด จะทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อลดลงกว่าครึ่ง ผลการฆ่าเชื้อก็ลดลงด้วย
- ยาตีกับอาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด นอกจากยาตีกันเองแล้ว อาหารเสริมที่ไม่ได้จัดเป็นยาหรือสมุนไพรบางชนิดก็สามารถ “ตีกับยา” ได้ เช่น น้ำผลไม้บางชนิด กระเทียม หรือแป๊ะก๊วย อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาที่ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin ได้
ในส่วนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หรือการรับประทานอาหารเสริม รวมถึง การสูบบุหรี่ หรือ การดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้จะมีฤทธิ์ตีกับยาหรือไม่ อย่างไร?
- พฤติกรรมของผู้ป่วย ในเรื่องการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ล้วนมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาทั้งสิ้น การสูบบุหรี่จะทำให้ยาทั้งหลายออกฤทธิ์ลดลง ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ต้องการขนาดยาที่จะได้ผลการรักษาที่สูงกว่าคนอื่นทั่วไป เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์จะทำให้ผลการรักษาของยาเปลี่ยนแปลงไป
- ยาบางอย่าง เช่น ยาเบาหวาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดอาการที่เรียกว่า disulfiram-like effect
- น้ำผลไม้บางชนิดโดยเฉพาะน้ำเกรฟฟรุต (ขนาด 250 ซีซี) จะทำให้ระดับยาในเลือดของยาที่รับประทานร่วมด้วยสูงขึ้น เช่น ยาลดไขมัน ยากดระบบประสาท เป็นต้น
- อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด นอกจากยาตีกันเองแล้ว อาหารเสริมที่ไม่ได้จัดเป็นยาหรือสมุนไพรบางชนิดก็สามารถ “ตีกับยา”ได้ เช่น น้ำผลไม้บางชนิด กระเทียม หรือแป๊ะก๊วย อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาที่เพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้
แนวทางการแก้ปัญหายาตีกัน ใช้ยาซ้ำซ้อน
- จากปัญหาในการใช้ยาที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และจากภารกิจหลักของเภสัชกรที่จะต้องสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยและประชาชน สภาเภสัชกรรม จึงได้จัดทำ “สมุดบันทึกยา” ขึ้น เพื่อบันทึกประวัติการใช้ยาประจำตัวผู้ป่วย ใช้เป็นเครื่องมือของเภสัชกรในภาคส่วน ต่าง ๆ ทั้งในโรงพยาบาลและร้านยาที่จะได้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน
- “สมุดบันทึกยา” นี้จะมีข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ ไม่ว่าจะได้จากสถานพยาบาลใด ซึ่งจะช่วยให้ตรวจสอบ ดูแล ปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกรไม่จ่ายยาที่ซ้ำซ้อนกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ หรือเลือกจ่ายยาที่ไม่ “ตี” กับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา ในสมุดบันทึกยานอกจากจะมีรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับแล้ว ยังมีการบันทึกรายละเอียดที่สำคัญของผู้ป่วยไว้ ทั้งประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- สภาเภสัชกรรมได้ขอความร่วมมือจากเภสัชกรในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเภสัชกรในร้านยา ให้ช่วยบันทึกรายการยาหรือออกบันทึกยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยและประชาชนที่เข้ารับบริการด้านยาจากท่านทั้งในโรงพยาบาล ร้านยา ศูนย์บริการสาธารณสุข ต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มผลการรักษา ลดความซ้ำซ้อนของยา ป้องกันผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยในการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
- อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ป่วยและประชาชนผู้ใช้ยา ควรดูแลบันทึกการใช้ยาของตนเองด้วยเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการบันทึกรายการยา สมุนไพร อาหารเสริม ที่ประชาชนหาซื้อมาใช้เองเพิ่มเติม เพื่อให้มีบันทึกยาที่สมบูรณ์ ที่จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันอันตรายจากยาและช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างแท้จริง
จะขอรับสมุดบันทึกยาได้ที่ไหน
-ผู้ป่วยโรคเรื้องรังสามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรที่อยู่ประจำหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือร้านยา โดยเฉพาะ “ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งจะช่วยดูแลการใช้ยาอย่างต่อเนื่องเสมือน “เภสัชกรประจำครอบครัว (Family Pharmacist)” พร้อมขอรับสมุดบันทึกยา โดย รวบรวมยาทุกรายการที่ใช้อยู่เป็นประจำมาให้เภสัชกรตรวจสภาพและลงบันทึก รายการและขนาดยาทั้งหมดในบันทึกยาประจำตัวท่านได้ตั้งแต่วันนี้ และควรพกสมุดบันทึกยานี้ติดตัวทุกครั้งที่ไปพบแพทย์หรือไปซื้อยากับเภสัชกรที่ร้านยา เพื่อลงรายการยาที่ได้รับเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อผลการรักษาที่คุ้มค่าและปลอดภัยกับตัวท่านเอง