1. การตรวจหาเชื้อในคนที่มีอาการสงสัยว่าเป็น
ต้องเข้าใจว่าไวรัสที่ปลดปล่อยในสิ่งคัดหลั่ง ไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และหลุดออกมาเป็นพักๆ (intermittent shedding) ดังนั้น การส่งตรวจควรต้องส่งทั้ง น้ำลาย ปัสสาวะ ปมรากผม จากการถอนเส้นผมที่ติดปม น้ำไขสันหล้ง และถ้าการตรวจหา RNA เจอในตัวอย่างใดก็ถือเป็นบวก แต่ถ้าตรวจไม่เจอ และยังมีโอกาสเป็นได้ยังคงต้องส่งตรวจต่อในวันถัดมา
2.สัตว์นำโรคคิดว่า "ลูกสุนัขและแมว" ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า
จริงๆ แล้ว.....สุนัขและแมว อายุเท่าใดก็ตามแพร่โรคได้ แม้จะมีอายุเพียง 1 เดือน
3. คิดว่าสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ "เฉพาะในหน้าร้อน" เท่านั้น
จริงๆ แล้ว.....เป็นได้ทุกฤดูกาล ฉนั้นการฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาล และคนเมื่อถูกกัดไม่ว่าฤดู
ไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน
4. คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดี ก็ไม่น่าจะเป็นบ้า
จริงๆ แล้ว.....สุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด
ถ้าสัตว์ดูยังปกติอย่านิ่งนอนใจ ต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยกและกักขังสุนัขและแมวนั้นๆ หาก
แสดงอาการผิดปกติ ต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็น
โรคพิษสุนัขบ้า
5. คิดว่าการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100%
จริงๆ แล้ว.....หากสัตว์ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้วและอยู่ในระยะฟักตัว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล ดังนั้นการนำสุนัขและแมวมาเลี้ยงต้องรู้ประวัติพ่อแม่และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
6. คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่มีโอกาสเป็นบ้า
จริงๆ แล้ว.....ยังมีโอกาสเป็นบ้าได้ ดังนั้นสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี
มิฉะนั้นยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อ ทั้งนี้อาจต่างจากบางประเทศที่เจริญแล้วที่สุนัขและแมวหลังจากที่ได้รับการฉีดครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องฉีดประจำทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโอกาสที่สุนัขและแมวจะได้รับเชื้อมีน้อยมากเหลือเกินและจะทำการฉีดกระตุ้นต่อเมื่อมีการสัมผัสโรคจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่
เป็นประเทศที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข และโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับเชื้อค่อนข้างมีสูง
7. คิดว่าสุนัขและแมวที่เราเลี้ยงและเคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขบ้ากัดก็ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค
จริงๆ แล้ว.....ต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำ และกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วัน แต่ถ้าสุนัขและแมวนั้นไม่เคย
ได้รับวัคซีนมาก่อนเมื่อถูกสุนัขบ้ากัด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลายเพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ถ้า
ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้ฉีดวัคซีนทันทีและกักขังดูอาการ 6 เดือนและฉีดวัคซีนซ้ำ 1 เดือนก่อนปล่อย
8. คิดว่าสุนัขและแมว เท่านั้นที่แพร่เชื้อสู่คนได้
จริงๆ แล้ว.....สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน ทั้งนี้แม้แต่ลิง หนู และกระต่าย อย่างไรก็ดีในกรณีของหนูและกระต่ายเมื่อติดเชื้อและเกิดโรค ความสามารถในการแพร่โรคกระจายในหมู่พวกเดียวกันเองต่ำมาก และไม่ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการแพร่โรค แต่ถ้าคนถูกหนู หรือกระต่ายกัดให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป การตรวจหาเชื้อในสมองสัตว์จะช่วยตัดสินได้เด็ดขาดว่าควรต้องให้การรักษาแก่คนที่ถูกกัดหรือไม่ อนึ่ง ระยะเวลา 10 วัน ที่ใช้ในการจับแยกและกักขังเพื่อดูอาการว่าเป็นบ้าหรือไม่ ใช้ได้กับสุนัขและแมวเท่านั้น
การติดเชื้อในคนและการป้องกันโรค
9. คิดว่าการกัดคนทั้งๆ ที่ไม่ได้ถูกแหย่เป็นเครื่องแสดงว่าสุนัข แมวนั้นๆ เป็นบ้า
จริงๆ แล้ว.....สุนัข แมวที่เป็นบ้า กัดคนโดยที่แหย่หรือไม่ได้แหย่ก็ได้ เมื่อถูกกัด ต้องไปรับการรักษาเช่นกัน
10. คิดว่าการข่วนจากสุนัขหรือแมวไม่น่าจะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้
จริงๆ แล้ว.....การข่วนด้วยเล็บ ก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เนื่องจากสุนัข/แมวเลียอุ้งตีนและเล็บ อาจมีไวรัส
จากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บและแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงซิบซิบ
11. เมื่อถูกสุนัขกัด คิดว่าเอารองเท้าตบหรือราดด้วยน้ำปลาจะช่วยฆ่าเชื้อได้
จริงๆ แล้ว.....เมื่อถูกกัดต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และ ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นเย็บได้หลวมๆ การเย็บปิดแผล
จะส่งเสริมให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้ไวและเร็วขึ้น การปฎิบัติตามความเชื่อผิดๆเหล่านี้ทำให้มีคนเสียชีวิตมานักต่อนัก
12. เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อกัด คิดว่ามีโอกาสรอดแม้ไม่ได้รับการรักษา
จริงๆ แล้ว.....ถ้าคนถูกกัดแล้วมีอาการจะเสียชีวิตทุกรายภายใน 5-11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี ทั้งนี้ เพราะ ไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลา ซึ่งพบได้ 30-80% หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง
13. คิดว่ารอให้สุนัข/แมว ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน จึงค่อยพาคนที่ถูกกัดไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน
จริงๆ แล้ว.....การฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุด อยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และถ้าแผลมีเลือดออกไม่ว่า
ตำแหน่งใดของร่างกายต้องได้เซรุ่ม (อิมมูโนโกลบูลิน) ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผล
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
14. แม้จะรักษาทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้
จากการประชุมองค์การอนามัยโลก เดือนตุลาคม 2547 และ ตุลาคม 2553 จนกระทั่งถึงปี 2561 โดยมีการจัดประชุมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬา มีหลักฐานชัดเจนว่า ถึงแม้จะรักษาทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้แม้ว่าจะเกิดได้น้อยมากๆ ก็ตาม ในประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี 2542 รายงานผู้ป่วยตาย 2 ราย และในปี พ.ศ.2552 รายงานผู้ป่วย1 ราย แม้ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนและเซรุ่ม และมีผู้ป่วยตายในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
15. ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสัตว์นำโรค โดยเฉพาะสุนัขและแมว และคนที่มีโอกาสถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ซึ่งฉีดเพียง 3 เข็ม โดยที่แม้ว่าจะถูกกัดในอนาคต 10-20 ปีก็ตาม เพียงได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 เข็ม โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มก็ปลอดภัยแล้ว
16.ในปัจจุบันการฉีดทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น
จากการปรับตามองค์การอนามัยโลก (WHO expert consultation on rabies technical report series 1012 ปี 2018) การฉีดเข้าชั้นผิวหนังหลังถูกกัด 2-2-2 ใน 7 วัน คือในวันที่ 0 3 และ 7 การฉีดเข้ากล้ามเป็นสี่เข็ม การฉีดเข้าชั้นผิวหนังแบบป้องกันล่วงหน้าฉีดสองจุด ในวันที่ 0 และ 7 เท่านั้น (2-0-2)
และเข้ากล้ามฉีดหนึ่งเข็มในวันที่ 0 และ 7 (1-0-1)
17. โรคพิษสุนัขบ้าในคนมีอาการซับซ้อน
และไม่จำเป็นต้องมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม หรือมีน้ำลายมาก แต่มีอาการคล้ายโรคทางสมองทั่วไป หรืออาการอัมพาต แขนขาอ่อนแรง และ10%ของผู้ป่วยไม่มีประวัติถูกสัตว์กัด หรือถูกกัดบ่อยมากจนคิดว่าไม่สำคัญ ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัย โดยใช้รูปแบบที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง และวิธีทางอณูชีววิทยา โดยตรวจหา RNA ของไวรัสในน้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม ปัสสาวะ จนถึงปัจจุบันได้ทำการตรวจยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปีพ.ศ.2560 เป็นจำนวนมากกว่า 80 รายและวิธีการทั้งหมดได้รับการบรรจุในคู่มือขององค์การอนามัยโลก
18. ถึงแม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
แต่การวินิจฉัยยืนยันที่ถูกต้องจะนำไปสู่การค้นหาต้นตอของโรค โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มสุนัขที่กัดผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจาก สุนัขตัวการนอกจากจะแพร่โรคให้ผู้ป่วยแล้วยังมีโอกาสแพร่โรคไปยังสุนัขใกล้เคียง และสุนัขเหล่านั้นเท่ากับเป็นระเบิดเวลาเคลื่อนที่พร้อมที่จะแพร่โรคต่อไปในอนาคตและต้องไม่ลืมว่าคนที่สัมผัสผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อได้จึงต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม