ดังนั้นจะเอาแค่คำพูดมาเป็นตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการคงไม่ได้ ลองมาดูตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการกันดีกว่า หน่วยงานรัฐมีการกำหนดเกณฑ์ว่ายากจนไว้อย่างชัดเจน เรียกตัวชี้วัดนั้นว่า “เส้นความยากจน” (Poverty Line) ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่ถือว่าเพียงพอต่อการดำรงชีพในประเทศนั้น ๆ ถ้ามีรายได้ต่ำกว่านี้ก็นับว่าเป็นคนยากจนแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ในปี 2010 ว่าถ้าคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปี (คือคนวัยแรงงานมีงานทำ) มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนที่ 11,344 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีก็นับว่าเป็นคนจน
สำหรับบ้านเรา ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติ รายงานว่า เส้นความยากจนของประเทศไทยในปี 2560 อยู่ที่ 2,686 บาทต่อเดือน คือถ้าคุณมีรายได้ต่ำกว่านี้แปลว่าคุณคือคนจนนั่นแหละ แต่ถ้าคุณอยู่ใน กทม. ต้องมีรายได้มากกว่า 3,165 บาทต่อเดือน ถึงจะไม่นับว่ายากจน เนื่องจากใน กทม. มีค่าครองชีพสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนจังหวัดที่มีเส้นความยากจนต่ำที่สุดคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ 2,280 บาทต่อเดือน
แต่พอดูรายละเอียดรายภาค (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) พบว่า ภาคใต้มีเส้นความยากจนสูงที่สุด 2,768 บาทต่อเดือน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเส้นความยากจนต่ำที่สุด 2,403 บาทต่อเดือน และเมื่อแยกเส้นความยากจนของประชาชนในเขตเทศบาล (พื้นที่เมือง) กับนอกเขตเทศบาล (พื้นที่ชนบท) พบว่า ในเขตเทศบาลของภาคใต้มีเส้นความยากจนสูงที่สุด 3.059 บาทต่อเดือน ส่วนพื้นที่ที่มีเส้นความยากจนต่ำที่สุดคือ นอกเขตเทศบาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,260 บาทต่อเดือน
เมื่อพิจารณาตัวเลขเส้นความยากจนทั้งประเทศในเขตเทศบาลซึ่งนับเป็นพื้นที่เมืองอยู่ที่ 2,918 บาทต่อเดือน ส่วนนอกเขตเทศบาลคือพื้นที่ชนบทอยู่ที่ 2,436 บาทต่อเดือน แตกต่างกันถึง 482 บาท แสดงว่าคนเมืองต้องใช้เงินมากกว่าคนในชนบท ซี่งก็ดูเป็นเรื่องปกติไม่ได้แปลกอะไร แต่พอพิจารณาถึงรายได้ที่จะต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพแล้วพบว่า คนจนเมืองกับคนจนในชนบทมีพื้นฐานและความยากลำบากต่างกันมาก เราอาจจะมองว่าพื้นที่เมืองมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พร้อม ทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ จะยากจนอย่างไรก็ยังสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานจำเป็นที่ได้มาตรฐานไม่ยากนัก ในขณะที่พื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญ คนจนน่าจะขาดแคลนบริการพื้นฐานพวกสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมาก ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วมองว่าคนจนเมืองมีปัญหามากกว่าคนจนในพื้นที่ชนบทมาก ๆ เพราะคนจนในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ไม่ได้ขาดแคลนปัจจัยสี่ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต คนจนในพื้นที่ชนบทต่อให้จนอย่างไรก็ยังมีผลิตผลทางการเกษตรเอาไว้กินได้ไม่ว่าจะปลูกเองหรือเก็บเอาจากธรรมชาติ จะเพาะปลูกก็ยังมีที่เหลือเฟือ พอหาได้บ้าง ยังมีน้ำสะอาดตามธรรมชาติพอใช้อุปโภคและบริโภคได้ แต่พื้นที่เมืองที่มีมลภาวะมาก แหล่งน้ำธรรมชาติไม่สะอาดพอที่จะบริโภคได้โดยตรงอย่างเพียงพอ อีกทั้งการเป็นอยู่ในพื้นที่ชนบทก็สามารถอยู่ได้โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่ต้องนำของเสียเข้าระบบบำบัดอย่างได้มาตรฐานเพื่อจัดการอย่างถูกหลักสุขอนามัยก็ยังอยู่กันได้
ส่วนคนจนเมืองเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต่าง ๆ ในโลกเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่เมืองมีไว้สำหรับแหล่งธุรกิจการค้าการบริการ และที่อยู่อาศัยของประชากรเมืองเท่านั้น พื้นที่เกษตรกรรมเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงไม่ได้มีไว้เพาะปลูกเพื่อยังชีพ ชีวิตความเป็นอยู่แบบเมืองต้องการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ได้มาตรฐานซี่งต้องใช้เงินจ่ายเพื่อให้ได้บริการเท่านั้น จะจ่ายโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตามที คนจนเมืองจึงกลายเป็นกลุ่มที่คนด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจที่ติดกับอยู่ในพื้นที่เมืองที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง เราจึงเห็นคนไร้บ้านในเขตเมืองที่เร่ร่อนขอเงินตามสี่แยกต่าง ๆ หรือรับความช่วยเหลือจากรัฐไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถจัดหาปัจจัยสี่ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจแบบเมืองได้เอื้ออำนวยให้พวกเขาสามารถลืมตามอ้าปากได้แต่อย่างใด การแก้ปัญหาคนจนเมืองจึงมีความซับซ้อนและต้องการกลไกของภาครัฐเข้ามาช่วยเป็นอย่างมาก ทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัย การพัฒนาทักษะและความรู้เพื่อเข้าสู่ตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง การจัดหาบริการสาธารณะที่เพียงพอ แตกต่างจากคนจนในพื้นที่ชนบทที่ต้องการให้รัฐช่วยในแง่ต้นทุนในการจัดหาปัจจัยสี่เพื่อดำรงชีวิตและต่อยอดไปสู่การหารายได้เป็นหลัก ถ้ายังคิดว่าคนจนไม่ว่าจะเป็นคนจนเมืองหรือคนจนชนบทจะแก้ปัญหาได้ด้วยมาตรการเดียวกัน เราก็จะจนกันต่อไปไม่จบไม่สิ้นหละครับ
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ Rabbit Today