กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษ หากสูดดมเข้าไป อาจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหากได้รับควันพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าปกติ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสหรือสูดดมควันพิษเข้าไป และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
สารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษในครั้งนี้คือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถกลายเป็นไอระเหยและลุกติดไฟได้ และพิษจากสารเคมีอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 ถ้าสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารพิษปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแดง แห้ง และแตก ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ยังเป็นสารที่อาจก่อให้เป็นมะเร็งได้
สารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer หรือ SM) เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย เช่น
- สารโพลีสไตรีน (Polystyrene หรือ PS) - ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ประเภทถาด แก้ว จาน ช้อนพลาสติก แบบใช้แล้วทิ้ง ตัวกันกระแทกในบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว ขวดไวน์ คอมพิวเตอร์ ผักและผลไม้ ใช้ทำวัสดุช่วยพยุงตัว เช่นเสื้อชูชีพ ห่วงยาง และใช้ทำแผ่นฉนวนกันความร้อนในอาคาร
- สารอะคริโลไนทริล-บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene) - เป็นพลาสติกคุณภาพสูงมีความสมดุลทั้งในเรื่องความแข็งและความเหนียว คงรูปได้ดี ผิวสัมผัสสวยงามได้ ใช้เป็นวัสดุทำรูปทรงหรือตัวผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์กีฬา, ท่อส่งก๊าซ, หมวกกันน็อก
- สารสไตรีน บิวทาดีนรับเบอร์ (Styrene-Butadiene Rubber หรือ SBR)
- สารเอกซ์แพนเดดท์ โพลีสไตรีน (Expanded Polystyrene หรือ EPS)
สารสไตรีนโมโนเมอร์กับผลเสียต่อสุขภาพ
- หากหายใจรับสารนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมึนงง
- หากหายใจรับสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นเวลานานจะทำให้การได้ยินเสื่อม สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ช้า และปัญหาทางสายตา
- กรณีสารสไตรีนโมโนเมอร์สัมผัสผิวหนังจะมีอาการระคายเคือง ผิวหนังแดงแตกและแห้ง
- หากร่างกายรับสารในปริมาณสูงจะทำให้มีอาการชัก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผลกระทบจากควันพิษดังกล่าว หากประชาชนอยู่ในรัศมี 5 กม. ให้อพยพด่วนที่สุด 7 กม. ให้เฝ้าระวังสูงสุด และ 10 กม. ให้เฝ้าระวัง ซึ่งควันพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ดังนี้
- กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ
- กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด
ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ ดังนี้
- หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
- หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ ถ้าชีพจรอ่อนให้ทำการปั้มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และแจ้งไปที่เบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษสวมใส่หน้ากากที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02-5903866