ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อรณรงค์ด้านการยอมรับความแตกต่างในสังคมและสร้างความตื่นตัวเรื่องความท้าทายต่าง ๆ ที่เด็กผู้หญิงในประเทศไทยกำลังเผชิญ ในฐานะบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยการต่อยอดทางวิทยาศาสตร์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่บริษัทต้องสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจและพัฒนาศักยภาพแก่ผู้หญิงรุ่นใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองวันเด็กหญิงสากลในปีนี้ เหล่าผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้าได้เปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงในกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ได้ลองสวมบทบาทผู้บริหารขององค์กรเป็นเวลาหนึ่งวัน ภายใต้ธีม ผู้นำหญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนา (Leading Women in Science, Innovation, Technology and Development) เพื่อมอบประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมพัฒนาศักยภาพของเด็กผู้หญิงเพื่อให้มีแนวทางในการก้าวไปเป็นผู้บริหารหญิง และสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมต่อไป
กิจกรรม #GirlsTakeOver เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #GirlsBelongHere แคมเปญระดับสากล ซึ่งดำเนินกิจกรรมพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลกในทุกปี สำหรับแคมเปญดังกล่าว องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และพันธมิตรมีความมุ่งมั่นที่จะรณรงค์และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ที่กำลังขวางกั้นศักยภาพของเหล่าเด็กหญิงในสังคม
นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสภาพแวดล้อม ทีปราศจากการมีอคติในสถานที่ทำงานและการมอบโอกาสแก่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ด้วยประสบการณ์การสวมบทบาทผู้บริหารภายใต้ธีม “ผู้หญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนา” เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นผู้นำของสังคมในอนาคต โดยเราเชื่อว่าโอกาสในการก้าวสู่บทบาทผู้นำ ไม่ควรจำกัดเพศ และในขณะเดียวกัน ควรมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อสังคมของเรามากเพียงใด”
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เยาวชนหญิง 11 คนจากโครงการ Young Health Programme ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมและเวิร์คช็อปกับทีมผู้บริหารหญิงจากแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เพื่อสัมผัสประสบการณ์ตรงของผู้หญิงในฐานะผู้บริหารของแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้กิจกรรมสวมบทบาทผู้บริหารในประเทศไทยมีขึ้นพร้อมกันกับอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานของแอสตร้าเซนเนก้าตั้งอยู่ อาทิ อินโดนิเซีย มาเลเซีย อียิปต์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ทั้งนี้ เพศคือปัจจัยชี้สภาวะสุขภาพที่สำคัญ ขณะที่ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศนำมาซึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้หญิงและเด็กหญิง ข้อมูลจากรายงานด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease หรือ NCD) ของกองโรคไม่ติดต่อ ภายใต้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บ่งชี้ว่าอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 29% หรือ 820,000 คน โดยพบอัตราการเกิดโรคในกลุ่มประชากรหญิงมากกว่าชาย สถิติดังกล่าวสะท้อนความจำเป็นของการรณรงค์ด้านการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศมีสุขภาพที่แข็งแรงและความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ สังคม วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพ การปลูกฝังนิสัยรักสุขภาพ และผลลัพธ์ทางสุขภาพของเหล่าผู้หญิงและเด็กหญิง ในขณะที่โรคโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงและสร้างปัญหาและอุปสรรคในสังคมที่ผู้หญิงต่างกำลังเผชิญ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ส่งผลให้เยาวชนหญิงจำนวนไม่น้อยต้องออกจากโรงเรียน โดยส่วนหนึ่งอาจไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาอีกต่อไป การสร้างโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานผ่านกิจกรรม ดังเช่น กิจกรรม takeover ภายใต้แคมเปญ #GirlsBelongHere จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนควรได้รับ
ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวในกิจกรรมว่า “ผู้นำที่ดี จะไม่บังคับลูกทีมให้ทำตามสิ่งที่ตนต้องการ แต่จะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงจูงใจ และลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ จึงต้องมีความมั่นใจในตัวเอง มีความมุมานะ และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา”
ผู้บริหารหญิงของแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย 3 ท่านที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้นำหญิงขององค์กรแก่เยาวชนหญิงทั้ง 11 คน ได้แก่ ภญ. พิธพร โชติกนกรัตน์ Head of Market Access and Government Affairs, คุณธนิกา ปานนพภา Business Unit Director- Oncology และคุณจิตรา ธีรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล โดยผู้บริหารทั้งสามได้เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตน ก่อนที่จะมอบหมายภารกิจให้เยาวชนหญิงแต่ละคนรับหน้าที่ในการปฏิบัติงานแทน
นอกจากนี้ยังได้มอบคำแนะนำด้านทัศนคติและทักษะที่สำคัญต่อบทบาทผู้นำหญิงขององค์กร อาทิ ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และกระบวนการตัดสินใจ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ตั้งคำถามตามอัธยาศัย โดย น้อง ๆ ทั้ง 11 คนจากโครงการ Young Health Programme ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของสิทธิสตรีและแนวทางการรับมือความท้าทายและการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงต้องเผชิญในแวดวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนา
เกี่ยวกับ โครงการ Young Health Programme
โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน (Young Health Program - YHP) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มุ่งเน้นการปลูกฝังองค์ความรู้ การดูแลสุขภาพ ให้กับเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและความเปราะบางให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพจิต
โครงการ Young Health Program ดำเนินงานร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ UNICEF และใช้ฐานองค์ความรู้จากข้อมูลการวิจัยจากสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ Johns Hopkins Bloomberg มีการดำเนินการไปแล้วกว่า 30 ประเทศ และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลในการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไปแล้วกว่า 12 ล้านคน โครงการ Young Health Programme มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการป้องกัน และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน การนำข้อมูลความรู้จากงานวิจัย และการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างแกนนำนักเรียนและนักศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ โครงการ Young Health Program เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้านความยั่งยืนของ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะใช้ทรัพยากรและความสามารถขององค์กรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงมีความหมายต่อความต้องการด้านสุขภาพของสังคม
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca
เกี่ยวกับ Plan International Thailand
องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริม พัฒนา คุ้มครองสิทธิเด็ก และความเสมอภาคสำหรับเด็กผู้หญิง สำหรับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่น ประเทศไทย ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก มีแนวทางในการทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน ผู้สนับสนุน และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มตั้งแต่จุดเล็กที่สุดอย่างครอบครัว แล้วขยายสู่ชุมชน เพื่อรังสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับสากล เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ที่
plan-international.org/thailand และกดติดตามเพจ
facebook.com/plan.thailand