แถลงการโดย ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ได้ระบุว่าการที่เชื้อ Mpox เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) และจำนวนประเทศที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (public health emergency of international concern - PHEIC) ตามข้อบังคับด้านสุขภาพระหว่างประเทศ (2005) (IHR)
คำประกาศของดร.เทดรอสเกิดขึ้นตามคำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉิน IHR ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ หลังจากพบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงที่อาจแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ในแอฟริกาและอาจรวมถึงนอกทวีปด้วย
"การระบาดของ mpox กลุ่มใหม่ เกิดขึ้นและการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในคองโกตะวันออก และการรายงานพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก จึงมีความจำเป็นอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งการระบาด และช่วยชีวิตผู้คน"
ดร. Matshidiso Moeti ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาของ WHO กล่าวว่า "ขณะนี้มีการพยายามอย่างมากในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและรัฐบาล เพื่อเสริมมาตรการควบคุม mpox ที่กำลังแพร่ระบาด WHO กำลังเร่งดำเนินการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆ เพื่อที่จะยุติการระบาด"
ศาสตราจารย์ Dimie Ogoina ประธานคณะกรรมการกล่าวว่า “การระบาดของไวรัส mpox ที่เพิ่มขึ้นในบางส่วนของแอฟริกาในปัจจุบัน ร่วมกับการแพร่ระบาดของไวรัส Monkeypox สายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่เพียงแต่ในแอฟริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย Mpox ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาถูกละเลย และต่อมาก็ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2022 ถึงเวลาแล้วที่ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”
ระบาดอีกในรอบสองปี
การระบาด Mpox ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองในรอบสองปี เชื้อ Mpox เกิดจากไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) ตรวจพบครั้งแรกในมนุษย์ในปี 1970 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โรคนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศต่างๆ ในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
ในเดือนกรกฎาคม 2022 มีการระบาดของไวรัส Mpox ในหลายประเทศ WHO ได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉิน PHEIC เนื่องจากโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสทางเพศ และพบในหลายประเทศที่ไม่เคยพบเห็นไวรัสนี้มาก่อน แต่ต่อมา WHO การประกาศให้ยุติภาวะฉุกเฉิน ในเดือนพฤษภาคม 2023 หลังจากที่จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
มีรายงานพบไวรัส Mpox ใน DRC มากว่าทศวรรษแล้ว จำนวนผู้ป่วยที่รายงานในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อปีที่แล้ว จำนวนผู้ป่วยที่รายงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ในปีนี้ จำนวนผู้ป่วยมีมากกว่า 15,600 ราย และเสียชีวิต 537 ราย เป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีที่แล้ว
การระบาดเมื่อปีที่แล้ว ใน DRC เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ใน กลุ่ม 1b ซึ่งส่วนใหญ่แพร่ระบาดผ่านเครือข่ายทางเพศ และการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์นี้ในประเทศเพื่อนบ้านของ DRC ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักในการประกาศ PHEIC
พบผู้ป่วยเพิ่มในหลายประเทศ
ในเดือนที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยไวรัส Mpox สายพันธุ์กลุ่ม 1b ที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการมากกว่า 100 ราย ใน 4 ประเทศเพื่อนบ้านของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้แก่ บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา โดยที่ประเทศเหล่านี้ ไม่เคยรายงานมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่อาการเข้าได้ทางคลินิก แต่ไม่ได้รับการทดสอบ
การระบาดของเชื้อ Mpox ในกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยมีรูปแบบการแพร่เชื้อและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
วัคซีน Mpox
วัคซีน 2 ชนิดที่ใช้สำหรับเชื้อ Mpox ในปัจจุบันได้รับการแนะนำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (WHO) และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติที่อยู่ในรายชื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดจนได้รับการอนุมัติจากแต่ละประเทศ เช่น ไนจีเรียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว WHO ขอให้มีการเตรียมพร้อมสำหรับวัคซีนสำหรับภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ โดยเฉพาะกับพันธมิตรผู้จัดหาวัคซีน เช่น Gavi และ UNICEF ให้พร้อมสำหรับการแจกจ่ายได้โดยเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่ มีรายได้น้อย ซึ่งยังไม่ได้ออกการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติของตนเอง
WHO กำลังทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ และผู้ผลิตวัคซีน และประสานงานกับพันธมิตรผ่านเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีน ยา การวินิจฉัยโรค และเครื่องมืออื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน
WHO คาดว่าจะต้องใช้เงินทุนเริ่มต้นทันที 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเฝ้าระวัง การเตรียมพร้อม และการตอบสนอง
WHO ได้อนุมัติเงิน 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนฉุกเฉินของ WHO เพื่อให้พร้อมรับสภานการณ์ และพร้อมจะอนุมัติเพิ่มเติม ตามขอเรียกร้องเพื่อให้ทันรับมือกับ Mpox ได้อย่างทันท่วงทีและรอบด้าน
โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ทั่วโลกปี 2022
ย้อนเวลามองการระบาดโรคฝีดาษวานรปี 2022 (2565)