กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีหน้าหลักคือสนับสนุน ดูแล เฝ้าระวัง ตรวจสอบตรวจตราสถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก และหน่วยบริการสุขภาพอื่นๆ เช่น สปา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น หากประชาชนพบความผิดปกติ การดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ผิดกฏหมาย ไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรฐาน ไม่มั่นใจว่าถูกต้องถูกกฏหมายหรือไม่ เหล่านี้ สามารถแจ้งกรมสบส.ได้ทันที ที่สายด่วน 1426
ทั้งนี้ กรมสบส.ได้ จัดลำดับเรื่องที่สามารถร่วมตรวจสอบ ร้องเรียนได้ 10 เรื่องที่พบบ่อย ดังนี้
1. ตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลเอกชน (รพ.เอกชน/คลินิก) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านนวด/ร้านสปา/สถานดูแลผู้สูงอายุ)
ปัจจุบัน ยังพบว่ามีสถานพยาบาลและแพทย์ปลอม ที่ยังลักลอบให้บริการอย่างไม่ถูกต้องอยู่ ดังนั้น หากประชาชน มีข้อสงสัยว่าสถานพยาบาล คลินิกต่างๆ ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ แพทย์ที่ให้บริการมีใบอนุญาตหรือไม่ เหล่านี้ สามารถแจ้งเพื่อให้กรมเข้าตรวจสอบได้
2. พบความบกพร่องของมาตรฐานเครื่องมือแพทย์
เครื่องมือแพทย์มีหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปตามประเภทของการบริการสุขภาพ ตั้งแต่เครื่องมือขนาดใหญ่ วัสดุอุปกรณ์แบบ เข็ม น้ำยา ยา เวชภัณฑ์ ล้วนเป็นเครื่องมือแพทย์ทั้งสิ้น และทั้งหมดจะต้องผ่านการรับรองจากอย.ทุกชิ้น ทุกประเภท หากประชาชนพบหรือสงสัยว่าเครื่องมือแพทย์ของสถานพยาบาล ว่าอาจไม่ได้คุณภาพ ด้อยคุณภาพ รวมถึงค่าบริการถูกหรือแพงเกินจริงจากปกติมาตรฐานของตลาด ก็อาจเป็นจุดสังเกตได้เช่นกัน
3. ได้รับความเดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เป็นธรรมใน รพ.เอกชน
หากพบว่าค่าบริการต่างๆ สูงเกินจริง การคิดราคาบริการไม่เหมาะสม ค่าสินค้าบริการ ยา เวชภัณฑ์ ต่างๆ เกินจริง หรือแม้แต่ราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของมาตรฐานตลาดหรือมาตรฐานบริการทั่วไป มากเกินไป ก็เป็นความเสี่ยงที่จะเป็นบริการหรือสินค้าปลอมได้เช่นกัน หากพบกรณีเหล่านี้ ควรแจ้ง สบส.ทันที
4. ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สิทธิ UCEP หรือกรณีการเข้ารับการรักษาโรคโควิด 19 ในโรงพยาบาลเอกชน
สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจน พ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง กำหนด 6 อาการที่เข้าข่าย ภาวะฉุกเฉินวิกฤต เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
ขั้นตอนการใช้สิทธิ UCEP
- ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน
- ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
- กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หมายเหตุ : Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต [สปสช.]
ประชาชนที่มีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) โทร. 02-872-1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
5. พบการโฆษณาสถานพยาบาลเอกชนหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่โอ้อวด หลอกลวง เกินจริง
มักเป็นกรณีที่พบได้บ่อยครั้ง เกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบและทุกประเภทการบริการทางการแพทย์ หากประชาชนไม่มั่นใจ ควรโทรตรวจสอบ สอบถามก่อนใช้บริการ
6. พบปัญหาเที่ยวกับการดำเนินงานและการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสมของ อสม.
อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เป็นกลุ่มบุคลากรที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรม สบส.เช่นกัน โดยปกติมีระเบียนปฏิบัติและบทบาทชัดเจนในการช่วยเหลือดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว หากพบปัญหาการรับบริการหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ ควรแจ้งทันที
7. พบการเปิดให้บริการของสถานพยาบาลเอกชนเถื่อน/สถานประกอบการเพื่อสุขภาพเถื่อน
ประชาชนสามารถร่วมเป็นหูเป็นตา และโปรดแจ้งทันทีที่พบสถานพยาบาลเถื่อนเหล่านี้ เพื่อช่วยไม่ให้ผู้อื่นต้องตกเป็นเหยื่อหรือได้รับความเสียหาย
8. พบการให้บริการของหมอเถื่อน/หมอนวดเถื่อน/บริการแอบแฝง
กรณีหมอเถื่อน หมอแอบอ้าง ใบประกอบโรคศิลป์ปลอม รวมถึงหมอนวดเถื่อน ไม่มีใบอนุญาต มีการแอบแฝงให้บริการ ขายบริการอื่นๆ นอกเหนือจากปกติ ล้วนสร้างความเสียหายได้ทั้งสิ้น หากพบเห็นหรือมีเบาะแส ควรรีบแจ้งโดยทันที
9. พบการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญ
ประเทศไทยมีกฏหมายรองรับการทำอุ้มบุญ ประชาชนกลุ่มที่ประสงค์จะทำการอุ้มบุญสามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดที่กฏหมายบัญญัติไว้ การละเมิด ลักลอบหรือไม่เป็นไปตามกฏหมายจะเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประสงค์และผู้รับอุ้มบุญ รวมถึงการบริการทั้งระบบ
10. พบการทุจริต และประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายในกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
โทร 1426 สำหรับการร้องเรียน เฉพาะในเขตกทม. หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด แจ้งที่ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 หรือ สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่
การแจ้งปัญหา ร้องเรียน ความผิดปกติ บริการกฏหมายต่างๆ ไม่เพียงเป็นการช่วยตัวท่านเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยสังคม และผู้อื่นในสังคมได้โดยตรง เพื่อจะได้ไม่มีใครตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ อีกต่อไป