เขตสุขภาพที่ 4 ขยายเครือข่ายรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ช่วยผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายเข้าถึงบริการมากขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เขตสุขภาพที่ 4 มุ่งสร้างทัศนคติในการบริจาคอวัยวะและดวงตา ขยายเครือข่ายผู้ประชาสัมพันธ์การรับบริจาค ไปยังชุมชนและท้องถิ่น เพื่อเพิ่มการส่งต่ออวัยวะและดวงตาจากผู้ที่มีภาวะสมองตายไปสู่ผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น
25 กรกฎาคม 2565 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.พระนครศรีอยุธยา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “ขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เขตสุขภาพที่ 4” โดยมี นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายสนับสนุนงานรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตา ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน กาชาดจังหวัด ท้องถิ่น อสม. 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 รวม 1,100 คน ร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดำเนินงานบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวง และมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต ในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจุบันอวัยวะและดวงตาบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตยังไม่เพียงพอต่อการนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยังมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 5,817 ราย ขณะที่มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 429 ราย ส่วนผู้ป่วยกระจกตาพิการ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาไปแล้ว 5,049 ราย แต่ยังมีผู้รอคอยการปลูกถ่ายอีกจำนวนมากถึง 17,464 ราย
ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 4 ได้มีการขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตาใน 2 ส่วน คือ
1) ชุมชน ได้แก่ อสม. และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
2) หน่วยบริการ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต.
แนวทางคือ ทั้งสองเครือข่าย ร่วมกันมุ่งเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แนะนำช่องทางการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตา ค้นหาและแจ้งพยาบาลผู้ประสานการรับบริจาคฯ เข้าเจรจาให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจบริจาค โดยเฉพาะดวงตาที่แม้จะเสียชีวิตที่บ้านก็สามารถบริจาคได้ เพราะผู้บริจาคเสียชีวิตสมองตาย 1 ราย สามารถให้อวัยวะได้หลายรายการ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด (ซ้าย-ขวา) ลิ้นหัวใจ ตับอ่อน ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และกระจกตา
ศูนย์รับบริจาคปลูกถ่ายไตและดวงตาในเขต 4
เขตสุขภาพที่ 4 ได้พัฒนางานรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตามาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการรับบริจาคอวัยวะและดวงตาจากผู้บริจาคเสียชีวิตสมองตาย ข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 ถึง มิถุนายน 2565 ได้รับบริจาคอวัยวะและดวงตาจากผู้บริจาคเสียชีวิตสมองตายแล้ว 101 ราย ที่สภากาชาดไทยจะได้นำไปจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่รอคิวรับบริจาคอวัยวะและดวงตาต่อไป
ศักยภาพโรงพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 4
ในการปลูกถ่ายไต ได้แก่
- โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี
- เครือข่ายโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในเขตร่วมด้วย คือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ส่วนศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา ได้แก่
- โรงพยาบาลศูนย์พระนั่งเกล้า นนทบุรี
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
- ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ
สำหรับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ได้ร่วมดำเนินโครงการ
“พาผู้ป่วยกลับบ้าน” ต่อเนื่องมาถึงโครงการ
“ดวงตาสดใสใกล้บ้าน” ทำให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการ ได้กลับมาผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาใกล้บ้าน ตั้งแต่ปี 2560 สามารถปลูกถ่ายกระจกตาได้แล้วถึง 206 ดวงตา
ทั้งนี้การดำเนินการขยายเครือข่ายความร่วมมือการรับบริจาคและปลูกถ่ายและดวงตาของเขตสุขภาพที่ 4 ในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาที่จะนำไปช่วยผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายได้อีกจำนวนมาก