ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.คิกออฟ เดินหน้าระบบสุขภาพดิจิทัล ประเทศไทย

สธ.คิกออฟ เดินหน้าระบบสุขภาพดิจิทัล ประเทศไทย Thumb HealthServ.net
สธ.คิกออฟ เดินหน้าระบบสุขภาพดิจิทัล ประเทศไทย ThumbMobile HealthServ.net

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติครั้งแรก หลังนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้ง เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ 4 ปี เสนอ ครม. เพื่อรองรับสถานการณ์ท้าทายรอบด้าน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการฯ บูรณาการระบบสุขภาพดิจิทัล เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลจริงจัง มีระบบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ปลอดภัย การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพไม่เพิ่มภาระบุคลากร และคืนข้อมูลสุขภาพที่สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน

 
         31 ตุลาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
 
          นายอนุทินกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลสุขภาพแห่งชาติครั้งแรก หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ กลไกการบริหารจัดการและโครงสร้างหน่วยงานบริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพดิจิทัลระดับประเทศ

          ทั้งนี้ ระบบสุขภาพดิจิทัลเป็นคำใหม่ คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบสุขภาพ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 การแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช (Telemedicine) ถูกมาใช้เพื่อสื่อสารระหว่างผู้ติดเชื้อกับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ทำให้เห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างจริงจัง จัดให้มีระบบที่ดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย และมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศฯ เรื่อง มาตรฐานข้อมูลสุขภาพ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เพื่อให้สถานพยาบาลนำมาตรฐานข้อมูลสุขภาพที่จัดทำในรูปแบบสากล FHIR ไปพิจารณาปรับใช้ในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ
 
 
          “เรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพมีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยวางแผนจัดการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวันและใช้ในการบริหารได้ หลักสำคัญคือ ต้องไม่เพิ่มภาระบุคลากร บันทึกในระบบโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียวแล้วส่งมาที่ส่วนกลาง ซึ่งการเชื่อมข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลจะอำนวยความสะดวกการส่งต่อรักษาได้  แต่ยังมีประเด็นท้าทายในการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามสังกัด นอกจากนี้ ขอให้ร่วมกันคืนข้อมูลสุขภาพให้กับประชาชน โดยให้ประชาชนอ่านเข้าใจ และให้ความรอบรู้ด้านสุขภาพไปด้วย” นายอนุทินกล่าว
 
 
          นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ มีการพิจารณาเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ

          1.ร่างแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ พ.ศ. 2566 - 2570 กำหนดทิศทางบูรณาการระบบสุขภาพดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน คือ การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล, การพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ, พัฒนาระบบนิเวศสุขภาพดิจิทัล, กำหนดมาตรฐานในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และการพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน
 
          2.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการระบบสุขภาพดิจิทัล มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศ การพัฒนาระบบการจัดเก็บและการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพตามมาตรฐาน ส่งเสริมการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อบริการสุขภาพของประเทศ เป็นต้น และ

          3.การแต่งตั้งคณะกรรมการระบบสุขภาพดิจิทัล เป็นคณะกรรมการเฉพาะด้านอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด