ในงานนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่
1. ปัญหาการจัดการน้ำในกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา โดยท่านได้กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีความกังวลไม่น้อย ต่อสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างหนัก ในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการประสานงานกับหลายหน่วยงาน อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน ทหาร รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของข้อมูลและการบริหารจัดการระดับน้ำ ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือกันทำให้สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งข้อมูลที่ท่านได้กล่าวถึง บอกถึงความหนักหน่วงของปัญหาได้ ชัดเจน ดังนี้
- เดือน ก.ย. 65 มีฝนตก 28 วัน จาก 30 วัน
- ค่าเฉลี่ยของน้ำฝนจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. 65 มีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี
- ในวันที่ 3 ต.ค. 65 ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. เฉพาะเขตหลักสี่เขตเดียวมีปริมาณน้ำฝน 162 มิลลิเมตร/ชั่วโมง และต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ชั่วโมง มากกว่าขีดความสามารถของท่อระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ แนวทางในการบริหารจัดการจะสนใจเพียงแค่พื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย
2. การดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ตามนโยบายแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ของท่านผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเป้าหมายใหญ่คือ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
โดยความหมายของความปลอดภัย นั้น จะครอบคลุมไปถึงเรื่องของอาชญากรรม ยาเสพติด อุบัติเหตุ ความปลอดภัยจากโครงสร้าง ธรณีพิบัติภัย ภัยพิบัติที่เป็นสาธารณภัยทั้งหมด และโรคต่าง ๆ ซึ่งแนวทางในการดำเนินการ คือ มุ่งเน้นการแก้-การเพิ่ม-การสร้าง อันได้แก่
- ทบทวนและแก้ไขข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร
- เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานให้พร้อมรับกับวิกฤตการณ์ในทุกรูปแบบ
- สร้างกลไกการขับเคลื่อนและบริหารจัดการด้วยชุดข้อมูลความเสี่ยง
เพื่อให้กรุงเทพฯ ปลอดอาชญากรรม ปลอดอุบัติเหตุ ปลอดภัยพิบัติ ปลอดจากอุบัติภัยจากสิ่งก่อสร้าง และเป็นเมืองสุขภาพดีนั่นเอง
ตัวอย่างนโยบายที่หนุนเสริมเมืองหยุ่นตัวที่กำลังดำเนินการ เช่น
การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (Bangkok Risk Map) ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงภายในเดือน ธ.ค. 65 โดยประชาชนจะสามารถใช้/ดูข้อมูลเกี่ยวกับ
- ดูแผนที่แสดงน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์
- ติดตามค่าฝุ่นละอองได้แม่นยำขึ้น จากเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
- ดูแผนที่แสดงศักยภาพดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครมีภาพรวมเป้าหมายร่วมของนโยบาย ได้แก่ ระบุความเสี่ยงและควบคุมแหล่งกำเนิดความเสี่ยง/มลพิษ พัฒนามาตรฐาน ลดขั้นตอน และเร่งกระบวนการให้บริการ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการสาธารณะ ปรับปรุง/ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้หยุ่นตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map)
การจัดการเมืองให้ปลอดภัยจำเป็นต้องมีข้อมูลเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่ครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอก กทม.
- ภายใน กทม.เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย สำนักการโยธา
- ภายนอกกำกับของกทม. เช่น สถานีตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร การประปานครหลวง กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงาน ฯลฯ
เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความรอบภัยได้อย่างรอบด้าน ทั้งในระยะการเตรียมความพร้อม การระงับเหตุ การช่วยเหลือเยียวยา อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำมากที่สุด กทม.จะ
- รวบรวมฐานข้อมูล เช่น ข้อมูลจุดมืด ข้อมูลสถิติอาชญากรรม ข้อมูลอุบัติเหตุ ข้อมูลน้ำท่วม ข้อมูลพื้นที่ต่ำ ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำเป็นแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพฯ (Bkk Risk map)
- วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมเพื่อแก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันเหตุ หรือเพื่อสนับสนุนการเผชิญเหตุ
- เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงล่าสุด หรือข้อมูลอุบัติเหตุ การระวังภัยแบบเรียลไทม์สู่สาธารณะเพื่อประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนเดินทาง กิจกรรมประจำวัน ไปจนถึงการเลือกที่อยู่อาศัย หรือการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
- พัฒนาการเชื่อมต่อระบบส่งข้อความแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงสูง หรือการแจ้งอพยพให้แก่ประชาชนทุกคน ทุกเครือข่าย
- พิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิด API ให้นำข้อมูลความเสี่ยงบางส่วน ไปประยุกต์ใช้กับแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อกระจายข้อมูลสู่ประชาชนในวงกว้าง
เป้าหมาย
- เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทุกรูปแบบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในหลายมิติของชีวิต ทั้งการเดินทาง การเลือกโซนที่อยู่อาศัย และการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
- หน่วยงานต่าง ๆ สามารถจัดการกับจุดเสี่ยงในเมืองได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว
*ข้อมูลจาก
www.chadchart.com/