3 มกราคม 2566 นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ทำบุญตักบาตรและสวดเจริญพุทธมนต์เจริญจิตตภาวนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและถวายพระพรแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร มีพระพลามัยแข็งแรง มีพระชนม์อายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแห่งพสกนิกรชาวไทยตลอดไป ข่าว สุทธิพงษ์ เกษเจริญคุณ
*ข่าวและภาพจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์
ประวัติโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เดิมชื่อโรงพยาบาลอุบลราชธานี ก่อสร้างเมื่อปี พุทธศักราช 2478 โดยหม่อมเจ้าอุปลีสานชุมพล ได้ประทานที่ดินของพระองค์แปลงหนึ่ง ที่สวนโนนดง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีตำรวจ อันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลในปัจจุบัน มีเนื้อที่ 27 ไร่ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระบิดาของพระองค์ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น พลเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคอีสาน ที่อยู่ติดต่อกับประเทศลาวหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติงบประมาณ มาใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลและให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับเหมาในการก่อสร้าง
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2478
เปิดทำการเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2479 และได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ในภายหลัง
จากอดีตสู่ปัจจุบันมีผู้อำนวยการมาแล้วจำนวน 13 ท่าน ซึ่งปัจจุบันคือ นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ มีบุคลากรทั้งหมด 3,899 คน
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,188 เตียง มีทั้งหมด 77 หอผู้ป่วย แบ่งเป็น
หอผู้ป่วยสามัญ จำนวน 35 หอผู้ป่วย
หอผู้ป่วยพิเศษ จำนวน 10 หอผู้ป่วย
ห้องผู้ป่วยหนัก จำนวน 26 ห้องผู้ป่วย
หน่วยงานพิเศษ จำนวน 6 หน่วย
เป็นโรงพยาบาลที่มีไอซียูมากที่สุดในประเทศไทยและเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ในเขตสุขภาพที่ 10
มีศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษจำนวน 5 ด้าน คือด้านโรคหัวใจ , มะเร็ง , อุบัติเหตุ ,ทารกแรกเกิดและปลูกถ่ายอวัยวะ
โดยให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว กัมพูชา รวมถึงประชาชนในเขตอีสานใต้
ภายใต้สโลแกน
"เป็นที่พึ่งสุดท้าย ปลายทางสุขภาพ ไม่ปฏิเสธคนไข้ ไม่มีคำว่าเตียงเต็ม"