DJ :ตอนนี้มีข่าวไข้หวัดใหญ่ะระบาดอยู่ที่อเมริกา ประเทศไทยมีสายพันธุ์นี้ด้วยหรือเปล่าคะ?
พญ.สุเนตร:ประเทศไทยยังโชคดีที่เราได้เฝ้าระวังอยู่ แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยมีสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศอเมริกาหรือไม่ ก็ตอบเลยว่า มีบ้างค่ะ แต่ของเรายังไม่ได้มีการระบาดใหญ่โตเหมือนอเมริกา เท่าที่ทราบข่าวที่อเมริกาตอนนี้มีเด็กเสียชีวิตไปหลายคน เพราะช่วงนี้อเมริกากำลังอยู่ในช่วงหน้าหนาว จึงทำให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดอย่างรุนแรงมาก แต่ในบ้านเราถึงจะมีเชื้ออยู่บ้าง แต่เราก็มีวัคซีนป้องกัน ประกอบกับอากาศในเมืองไทยไม่ค่อยหนาว ก็เลยทำให้ไม่ระบาดค่ะ
DJ :สายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ไม่ใช่สายพันธุ์ประหลาดใช่ไหมคะ?
พญ.สุเนตร:เป็นสายพันธุ์ปกติทั่วไปที่เราเฝ้าระวังอยู่แล้ว ไข้หวัดใหญ่หลักๆ เราก็มีวัคซีนป้องกันกันอยู่แล้ว อย่างเช่น H1N1 , H3N2 เป็นต้น และตัวที่ระบาดอยู่ในอเมริกาขณะนี้ก็คือH3N2 ซึ่งก็นับว่าโชคดีที่เรามีวัคซีนป้องกันตัวนี้อยู่แล้ว และถ้าเราฉีดวัคซีนแล้วและยังต้องไปเจอเชื้อตัวนี้ที่รุนแรงจริงๆ ก็จะทำให้ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
พญ.สุเนตร:โดยหลักการ คือ การเลียนแบบเชื้อโรค แต่ในสมัยโบราณทำจากเชื้อโรคที่ยังไม่ตายแล้วทำให้มันอ่อนตัวลงจนไม่สามารถเป็นเชื้อโรคได้ ปัจจุบันวัคซีนจะทำจากเชื้อที่หน้าตาคล้ายๆกัน รับรองได้ว่าฉีดเข้าไปแล้วไม่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เราก็ทำวัคซีนให้มันหน้าตาคล้ายๆกับเชื้อที่กำลังระบาด โดยทำให้เป็นเชื้อที่ตายแล้ว รับรองได้เลยว่าฉีดเข้าไปแล้วจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทำให้เกิดโรค แต่ก็เป็นบางโรคที่ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อที่ตายจะต้านทานโรคได้ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นต้องเป็นวัคซีนเชื้อเป็นแล้วทำให้มันอ่อนฤทธิ์ โดยที่คนปกติที่แข็งแรงดี ร่างกายก็จะสามารถรีบวัคซีนตัวนี้ได้ ยกตัวอย่าง เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน คางทูม หรือวัคซีนไข้สมองอักเสบ หรือสรุปง่ายๆก็คือ เป็นวัคซีนที่ใช้กับเด็กแรกเกิด คือวัคซีนเหล่านี้จะเป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ออกฤทธิ์ อันนี้ก็เป็นการแบ่งประเภทง่ายๆของวัคซีน
DJ :วัคซีนที่สำคัญกับร่างกายมีอะไรบ้างคะ?
พญ.สุเนตร:ขอแบ่งตามช่วงอายุนะคะ สำหรับเด็กแรกเกิดที่ต้องพาไปรับวัคซีนทุก1-2เดือน นั่นเป็นวัคซีนพื้นฐาน เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หรือตับอักเสบบี ส่วนสำหรับผู้ใหญ่จะเน้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนIPD คอตีบ ไอกรน ตอนนี้ก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน และยังมีโรคระบาดที่ประเทศไทยมี แต่อเมริกาไม่มี อย่างเช่น โรคคอตีบ ที่เมื่อปีที่แล้วระบาดหนักใน จ.เลย ซึ่งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อคอตีบขึ้นมาในผู้ใหญ่ สรุปง่ายๆคือ ประเทศไทยโชคดีที่เราส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ให้กับกับเด็กไทยทุกคนตั้งแต่ปี2520 ทำให้อุบัติการณ์โรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ ลดลงไป แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่มีใครรับวัคซีนตั้งแต่เด็ก ทำให้ช่วงอายุ20-50ปี อาจจะเป็นโรค คอตีบ ไอกรน ระบาดในผู้ใหญ่ ล่าสุดได้รับข้อมูลจากกุมารแพทย์โรคติดเชื้อของรพ.จุฬาฯ ว่าพบเด็กที่เกิดได้27-28วัน ติดเชื้อไอกรนนับว่า โชคร้ายมาก เพราะปกติเด็กจะได้รับวัคซีนตอนช่วงอายุ2เดือน ซึ่งเด็กคนนี้ได้รับเชื้อมาจากคุณพ่อคุณแม่โดยการไอ เพราะฉะนั้นต้องระวังโดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กๆ แต่เราสามารถป้องกันได้ถ้าผู้ใหญ่ได้รับวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็ขอความร่วมมือจากบริษัทวัคซีนต่างๆในการรณรงค์ฉีดวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในผู้ใหญ่ด้วยค่ะ ไม่เฉพาะแต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่านั้นที่ต้องระวัง เพราะตอนนี้โรคคอตีบ ได้กำลังระบาดอยู่ในภาคอีสาน แต่ก็ยังโชคดีที่เราได้เอาวัคซีนตัวนี้ไปฉีดก่อนแล้ว เลยทำให้เราสามารถควบคุมโรคไว้ได้ ส่วนโรคไอกรน ได้พบเพิ่มขึ้น1-2ราย ที่รพ.จุฬาฯ เมื่อเร็วๆนี้ โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กๆในบ้าน ควรที่จะฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเหล่านี้
DJ :โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เกิดจากเชื้ออะไรคะ?
พญ.สุเนตร:เชื้อแบคทีเรียค่ะ อย่างอเมริกา เค้ารณรงค์ให้ฉีดวัคซีนกันโดยที่ฉีด1เข็ม ป้องกันได้ทีเดียว3โรคเลย
DJ :ผู้ใหญ่ต้องฉีดกี่เข็มคะ ?
พญ.สุเนตร:ฉีด1เข็ม คุมได้10ปีค่ะ นอกจากนี้ยังมีอีก1โรค ที่สำคัญในผู้ใหญ่อีก1โรค คือ โรคปอดบวม (นิวโมคอสคัส) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เราก็มีวัคซีนที่ป้องกันโรคนี้ในผู้ใหญ่ ฉีดแล้วป้องกันได้ 23สายพันธุ์ ในเด็กป้องกันได้13สายพันธุ์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะเวลาติดเชื้อโรคบอดบวม นิวโมคอสคัส นี้ จะอาการรุนแรงถึงขนาดเข้าห้องICUทีเดียว
DJ :ผู้สูงอายุ หมายถึง อายุเท่าไหร่คะที่ควรฉีด?
พญ.สุเนตร:ถ้าไม่มีโรคประจำตัวก็อายุ60 ปีขึ้นไปที่ควรฉีด แต่ถ้าในอเมริกา สำหรับคนที่สูบบุหรี่ ถุงลมโป่งโพง ม้ามไม่ดี เป็นโรคเลือด หรือโรคปอด แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ50ปีขึ้นไปค่ะ
DJ :วัคซีนนิวโมคอคคัสนี้ ถ้าฉีดแล้วจะสามารถควบคุมโรคได้นานแค่ไหนคะ?
พญ.สุเนตร: 23สายพันธุ์ ในผู้ใหญ่คุมได้5ปี และต้องติดตามผลโดยอาจจะฉีด1เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน คุมได้ 13สายพันธุ์ ในเด็กฉีดได้ตั้งแต่ขวบปีแรก– 2ขวบ ซึ่งกุมารแพทย์ก็จะแนะนำให้อยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นก็ต้องมากระตุ้นด้วย23สายพันธุ์ต่อค่ะ
DJ :ปอดบวมกับปอดอักเสบเหมือนกันไหมคะ?
พญ.สุเนตร:ในทางการแพทย์เหมือนกันค่ะ
DJ :อุบัติการณ์ของโรคปอดบวม ปอดอักเสบนี้ปัจจุบันมีมากขึ้นใช่ไหมคะ?
พญ.สุเนตร:ใช่ค่ะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย40-50 % สาเหตุเกิดจาก เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นอันดับต้นๆ นอกจากนั้นก็เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อไวรัสค่ะ
DJ :ในผู้ใหญ่วัคซีนอะไรสำคัญที่สุดคะ?
พญ.สุเนตร:วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำคัญที่สุด ตามมาด้วย วัคซีนปอดบวม (นิวโมคอคคัส) และวัคซีนคอตีบ ไอกรน ซึ่งจะฉีดในผู้ใหญ่อายุ20-50ปี เพราะตอนนี้ภูมิคุ้มกันเราลดลง และตอนนี้ภาคเหนือ ภาคอีสาน เริ่มระบาดแล้ว
DJ :วัคซีนคือการป้องกันอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ?
พญ.สุเนตร:ใช่ค่ะ มีหลายๆท่านถามคุณหมอบ่อยๆว่า ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วทำไมยังเป็นอยู่อีก จะขอแนะนำว่าให้สังเกตว่าถ้าเป็นจะเป็นไม่มาก คือไม่ขนาดนอนซมหรือปอดอักเสบ เพราะวัคซีนจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
DJ :วัคซีนฉีดแล้วสามารถป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นคะ?
พญ.สุเนตร:สำหรับไข้หวัดใหญ่ และ วัคซีนนิวโมคอสคัส จากผลการวิจัย 80-90% (ขึ้นอยู่กับเชื้อที่ระบาด) แต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคนด้วย มีหลายปัจจัยค่ะ ส่วนวัคซีน คอตีบ ไอกรน จากผลการวิจัย 80-90% เหมือนกัน แต่โชคดีที่เชื้อไม่มีหลายสายพันธุ์
DJ :เห็นความสำคัญของวัคซีน กันแล้วนะคะ คุณหมอจะแนะนำอะไรถึงคุณผู้ฟังไหมคะ?
พญ.สุเนตร:แนะนำว่าสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรที่จะฉีดวันซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อเป็นป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคค่ะ