สำหรับประเทศไทยเคยมีการจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ในชื่อ Bangkok gay festival เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคมและรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ หลังจากนั้นก็มีการจัดงานเรื่อยมาอีกหลายครั้งแต่ต้องหยุดไป ในปีพ.ศ.2560 จนเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2565 ได้มีการจัดงาน Bangkok Naruemit pride โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมาอีกครั้ง
สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ งานไพรด์พาเหรดที่กรุงเทพฯถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน และยังได้มีการจัดงานนี้ในประเทศไทยอีกอย่างน้อย 6 จังหวัด ตลอดช่วงเดือนมิถุนายน[2]
ปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศ ทั่วโลกที่มีการจัดขบวนไพรด์พาเหรดดังกล่าวในช่วงแรกของการจัดงานนั้นได้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตั้งแต่ gay parade, gay and lesbian parade, LGBT parade ฯลฯ และมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่ระลึกถึงเหตุการณ์ “จลาจลสโตนวอลล์” เรียกร้องสิทธิการยอมรับในสังคมของเพศทางเลือกเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายนั้น แรกเริ่มเดิมทีในหลายประเทศจะเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย Sodomy law ที่บัญญัติว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน เป็นความผิดทางอาญา ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาเป็นการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติอันมาจากความแตกต่างทางเพศ หรือแม้กระทั่งหลักประกันความเสมอภาคความเท่าเทียมกันในรัฐธรรมนูญ[3]
ความหมายของชื่อย่อ LGBTQ+
สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า LGBTQ+ (แอล-จี-บี-ที-คิว-พลัส) นั้นโดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวคือตัวแทนของความหลากหลายทางเพศแบบใดแบบหนึ่งตามเพศวิถี ดังนี้
L - lesbian (เลสเบี้ยน) : หญิงรักหญิง
G - gay (เกย์) : ชายรักชาย
B - bisexual (ไบเซ็กชวล) : ชายหรือหญิงที่มีความรักกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้ามก็ได้
T - transgender (ทรานส์เจนเดอร์) : ผู้ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตน ไปเป็นเพศตรงข้าม
Q - queer (เควียร์) : คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ และไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ และตัวย่อนี้ยังรวมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ (+) อีกด้วย [4]
ปัจจุบันในทางการแพทย์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ “เป็นโรค”หรือ“มีความผิดปกติทางจิต” แต่อย่างใดโดยใน ICD-11 ขององค์การอนามัยโลกได้ถอดกลุ่มนี้ออกจากความผิดปกติทางจิตแล้ว[5]
ปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่ม LGBTQ+
ทั้งนี้ในขณะที่ผู้เขียนได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกให้ไปเป็นกลุ่มที่ปรึกษานานาชาติ (international advisory group)[6] ในการทบทวน ICD-10 และพัฒนา ICD-11 ก็ได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามได้มีรายงานว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบางคน ประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีอาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวชุมชนหรือสังคมหรือใน บางรายถูกตีตราจากสังคม บางรายถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
ดังนั้นปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มบุคคลเหล่านี้สมควร จะได้รับความสนใจอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้ได้เข้าถึงบริการในระบบสุขภาพจิตให้มากขึ้นโดยบุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีเจตคติในทางบวกต่อบุคคลกลุ่มนี้รวมทั้งต้องมีสมรรถนะการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender sensitive) ซึ่งได้มีผู้ทบทวนและเสนอแนะไว้แล้ว[7]
ข้อเสนอ
ผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมว่าตั้งแต่การทำเวชระเบียน ในช่องที่ให้ระบุเพศซึ่งในแบบฟอร์มของโรงพยาบาลทั่วไปจะมีให้เลือกเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น ควรเพิ่มช่องอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย ควรมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ควรมีห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกเหนือจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิงและห้องน้ำสำหรับคนชราหรือผู้พิการ นอกจากนี้บรรยากาศในโรงพยาบาลควรเป็นมิตร (friendly) กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อเคารพถึงความเท่าเทียมกันไม่เกิด ความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเพศสภาพ และเคารพในสิทธิมนุษยชน จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนทุกวัยและทุกเพศสภาพ และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อยู่อย่างมีความสุข[8]
พิเชฐ อุดมรัตน์
ติดต่อผู้นิพนธ์ : email: pudomratn74@gmail.com