1 สิงหาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเป็นการเผาไหม้ของดินปืน อาจทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำได้ ล่าสุด นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) ทั้ง 13 อำเภอใน
จ.นราธิวาส ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ได้ลงพื้นที่ร่วมคัดกรองผลกระทบด้านสุขภาพ เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย รวมถึงตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำใช้ โดยเครื่องมือวัดภาคสนาม ณ จุดเกิดเหตุและรัศมี 500 เมตรโดยรอบ พบว่าไม่มีปัญหาด้านคุณภาพอากาศ ส่วนคุณภาพน้ำยังไม่เหมาะสมทั้งการอุปโภคและบริโภค จึงเสนอให้ใช้แหล่งนำจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ประปา อบต. และน้ำบาดาลโรงเรียนมูโนะ เป็นต้น
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ทีม MCATT จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก 10 ราย เป็นผู้ใหญ่ 8 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 7 ราย และเด็ก 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย
2.ครอบครัวผู้เสียชีวิต 1 ครอบครัว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ประเมินบุตรของผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย และ
3.ผู้ได้รับผลกระทบในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 5 จำนวน 241 ราย เป็นผู้ใหญ่ 209 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 43 ราย เด็ก 32 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 8 ราย
รวมผู้มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตทั้งหมด 62 ราย
ซึ่งทุกรายทีม MCATT ได้ให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแล้ว สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ยังได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วย Crisis intervention หรือการช่วยให้วางแผนรับมือความเครียดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และในรายที่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต จะส่งต่อให้ทีม MCATT ในพื้นที่ประเมินตามมาตรฐานการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป
ทีมสิ่งแวดล้อม SEhRT กรมอนามัย ลงพื้นที่
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส ลงพื้นที่ประเมินสภาวะทางสุขภาพประชาชน พร้อมทั้งจัดการด้านสุขาภิบาล เฝ้าระวังการปนเปื้อนสารพิษ และเชื้อโรคในแหล่งอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ในศูนย์อพยพผู้ประสบภัย และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังพลุระเบิด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุและดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก กรมอนามัยจึงได้มอบทีมปฏิบัติการฯ (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ทำงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้ทำการเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม
ทางด้าน นายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เปิดเผยว่า ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน และเก็บตัวอย่างน้ำใช้เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีในพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่การเก็บตัวอย่างออกเป็น 3 โซน คือ โซนไข่แดง รัศมีไม่เกิน 100 เมตร โซนไข่ขาว รัศมีไม่เกิน 100 - 500 เมตร โซนกระทะ รัศมีไม่เกิน 500 - 1000 เมตร ผลพบว่า ปริมาณไนเตรตในน้ำมีค่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ค่าความขุ่น มีค่าเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ จึงแนะนำให้ประชาชนใช้น้ำ ที่ทางหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดเตรียมให้บริการ จนกว่าจะทราบผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีเชิงลึกทางห้องปฏิบัติการฯ ในอีก 3 วัน ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ควรล้างบ่อน้ำที่เป็นแหล่งน้ำใช้หลักของชุมชนตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถนำน้ำมาใช้ได้ สำหรับอาหารและน้ำดื่มที่ภาครัฐและเอกชนนำมาช่วยเหลือให้แก่ชุมชนและศูนย์อพยพ ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ควบคุม กำกับ ดูแลด้านความสะอาด และการประกอบปรุงให้เป็นตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงซ้ำซ้อนจากโรคระบาดที่มาจากอาหารน้ำเป็นสื่อ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณให้ทุกหน่วยงาน ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับโอกาสและความเสี่ยงสุขภาพ ตลอดจน ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน จากการเก็บ สะสมพลุหรือดอกไม้เพลิงไว้ในพื้นที่ โดยให้ทำการตรวจสอบและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย การพิจารณากรอบการให้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกับพื้นที่ในลักษณะชุมชน ที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำรอย เนื่องจากพลุและดอกไม้เพลิงมีส่วนประกอบของสารเคมีอันตราย และสารที่เป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและปนเปื้อนสารพิษในอากาศส่งผลกับระบบทางเดินหายใจของประชาชนได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งตรวจสอบกระบวนการผลิต การสะสม หรือการจัดเก็บสารเคมีตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพลุ หรือดอกไม้เพลิงประเภทต่างๆ ของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และควรมีมาตรการในการควบคุม กำกับ ที่เคร่งครัด พร้อมจัดทำแนวทางป้องกันไม่ให้มีการประกอบการเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน