เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. เกิดเหตุระเบิดบริเวณโกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ บริเวณตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและร้านค้าในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย และเสียชีวิตจำนวน 11 ราย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนได้รับรายงานเหตุการณ์ด้วยความห่วงใย และผมขอแสดงความเสียใจกับทายาทของผู้เสียชีวิต พร้อมมอบหมาย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยด่วน
ความช่วยเหลือจากประกันสังคม
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้สั่งการให้นายอาณัติ ศรีจำปา นิติกรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บประทัดระเบิด เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเป็นโกดังที่เก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ของร้านวิรวัฒน์พาณิชย์ ตั้งอยู่บริเวณหลังตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส แรงระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเป็นวงกว้าง บ้านเรือนเสียหายเกือบ 300 หลังคาเรือน เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุไหงโก- ลก และโรงพยาบาลใกล้เคียง ภายหลังตรวจรักษาแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ จำนวน 111 ราย รักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 10 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จำนวน 11 ราย จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบผู้เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3 ราย ดังนี้
รายที่ 1 นางปารีดะ สาและ อายุ 57 ปี ทางเลือกที่ 1
รายที่ 2 นายเด่น ดาโอ๊ะ อายุ 63 ปี ทางเลือกที่ 1
รายที่ 3 นางจันทร์นิสา ดาโอ๊ะ อายุ 28 ปี ทางเลือกที่ 2
โดยขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและสถานะการเป็นผู้ประกันตนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อดำเนินการให้ได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย และทายาทผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป
สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้การช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในยามเดือดร้อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ