นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการแข่งขันกับผู้นำกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพนานาชาติ รวมทั้งยังมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวและการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย กรม สบส.จึงได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์ภายใต้ “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายการยกระดับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชี้แจงความสำคัญร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการให้ความคิดเห็นต่อร่างเกณฑ์รางวัลคุณภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Thailand Wellness Awards : TiWA) ให้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ และมาตรฐานชั้นนำระดับโลกอย่างยั่งยืน (Platinum) ภายใต้การดำเนินงานตามนโนบาย Medical Hub เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นแนวหน้าในกลุ่มผู้นำธุรกิจด้านสุขภาพของโลก และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.อัครพล คุรุศาสตรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้กำหนดระดับเกณฑ์รางวัลคุณภาพฯ ประกอบด้วย 4 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับมาตรฐาน (Bronze) 2.ระดับก้าวหน้า (Silver) 3.ระดับต้นแบบ (Gold) และ 4.ระดับพัฒนาอย่างยั่งยืน (Platinum) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการคุณภาพ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านการตอบสนองผู้รับบริการ และด้านการจัดบริการเวลเนสที่เป็นเลิศ 2.เสริมสร้างภาพลักษณ์การบริการเวลเนสที่ดี สร้างคุณค่าเชิงสุขภาพ และความไว้วางใจให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล และ 3.พัฒนายกระดับศักยภาพบริการเวลเนสในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มขีดความสามารถและความได้เปรียบทางการแข่งขันและสร้างมูลค่าในระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีการจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาค ประกอบไปด้วย ภาคกลาง จ.นนทบุรี ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และ ภาคใต้ จ.ภูเก็ต ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2566 นี้