กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คว้า "รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ" รางวัลเกียรติยศสูงสุด ประจำปี 2566
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 และร่วมเสวนาเรื่อง “จากความมุ่งมั่น สู่ความสำเร็จ จากความสำเร็จ สู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ เป็นรางวัลสูงสุดของสำนักงาน ก.พ.ร. และรางวัล PMQA 4.0 ระดับพัฒนาจนเกิดผล รางวัลบริการภาครัฐระดับดีเด่น และระดับดี และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี เป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการให้บริการ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 7 ผลงาน แบ่งตามประเภทรางวัล ดังนี้
1) รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 1 รางวัล เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มีความโดดเด่นได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นตันแบบที่สร้างคุณค่าในการสร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติราชการจนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน
2) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ การพัฒนาระบบ e-Service การตรวจวิเคราะห์ (iLab Plus) แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
3) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นวัตกรรมชุดตรวจดีเอ็นเออย่างง่ายกับการพัฒนาบริการการตรวจวัณโรค โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และเขียงมะหาดจาก 100 บาท สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร 100 ล้านโดย สถาบันวิจัยสมุนไพร
4) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยโรคดาวน์ชินโดรมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แบบไร้รอยต่อของประเทศไทย โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์
5) รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ชุมชนต้านภัยสุขภาพ บ้านนาม่วงโมเดล โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี
6) รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับพัฒนาจนเกิดผล (Significance) จำนวน 1 รางวัล
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ที่มาแห่งความสำเร็จในการได้รับรางวัลครั้งนี้คือความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประชาชนมีสุขภาพดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งทุกผลงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการให้บริการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในระดับประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติราชการด้วยความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการบริการและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร เพื่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
กรมควบคุมโรค รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้ารับรางวัลผลงานคุณภาพ ประจำปี 2566 จำนวน 6 รางวัล จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับส่วนราชการต่างๆ ที่มีผลงานที่โดดเด่น สร้างคุณค่าต่อสังคมและประเทศ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค เข้าร่วมพิธี มอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น และระดับดี จำนวน 6 รางวัล ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการให้บริการ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ดังนี้
รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ (ระดับดีเด่น) ชื่อผลงาน ต้นแบบการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย Covid 19 ในภาวะวิกฤต โดยสถาบันบำราศนราดูร
รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ (ระดับดี) ชื่อผลงาน สานพลังทีม พลังเครือข่าย ร่วมใจป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของประชาชน ในเขตสุขภาพที่ 9 โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา
รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ (ระดับดี) ชื่อผลงาน ระบบการจัดเก็บข้อมูลและแสดงผลข้อมูลผู้มารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (FIRST) โดยกองโรคติดต่อทั่วไป
รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ (ระดับดี) ชื่อผลงาน “Phuket Tourism Sandbox” สร้างสมดุลสุขภาพ และเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช
รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทประสิทธิผลเครือข่าย (ระดับดีเด่น) ชื่อผลงาน ขับเคลื่อนกลไกสนับสนุนการบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (ระดับดี) ชื่อผลงาน มอโกรทะโมเดล : นวัตกรรมชุมชนโรคหนอนพยาธิ โดยกองโรคติดต่อทั่วไป
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า ทุกรางวัลที่กรมควบคุมโรคได้รับ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการทำงาน การให้บริการประชาชน จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกรมควบคุมโรคจะยังคงมุ่งมั่นยกระดับพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากโรคและภัยสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป