11 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต ผู้แทน SOS, VV Share, Lotus, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการ BKK Food Bank เป็นนโยบายที่ดำเนินการมา 1 ปี โดยใช้วิธีการในรูปแบบ Sandbox ทดลองก่อน สรุปเป็น 2 แบบ ส่วนที่ 1 คือ Food Surplus หรืออาหารส่วนเกิน ส่วนที่ 2 คือ Food Donation คือการบริจาคอาหาร
ซึ่ง 2 อย่างนี้ต่างกันมาก เช่น Food surplus คืออาหารที่ขายไม่หมดแต่มันยังไม่ถึงขั้นเสียแต่จะนำไปจะทิ้ง จึงมีการดำเนินการที่จะส่งต่ออาหารไปให้คนที่ต้องการ โดยมีอยู่ 2 โมเดลที่ทำกับ SOS และ VV Share ที่ช่วยคัดกรองอาหารและระบบการจัดการก่อนนำส่ง ซึ่งกทม.ดูแลการขนส่งอาหารด้วยรถของเทศกิจไปยังผู้รับในชุมชน โดยนำร่องไปแล้ว 10 เขต ประมาณ 30,000 มื้อ และจะขยายให้ครบ 50 เขตภายในปี 2567
อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ระบบการให้ผู้รับไปรับที่ผู้บริจาคเองโดยเขตไม่ต้องใช้รถขนส่งซึ่งจะมีการกำหนดจุดรับอาหารไว้ โดยเบื้องต้นดำเนินการบริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำนักงานเขตต่างๆ กว่า 9 พันคน ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งกทม.ร่วมดำเนินการกับ Lotus ทำไปแล้ว 47 เขตและจะขยายผลให้ครบ 50 เขตต่อไป
การดำเนินการ Food Donation
ในส่วนของ Food Donation มีคนอยากบริจาคจำนวนมาก ยกตัวอย่างเขตห้วยขวางที่ดำเนินการร่วมกับวัดในพื้นที่ โดยมองว่าวัดมีสังฆทานในวันพระจำนวนมากและพระสงฆ์ไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด เช่น ยาสีฟัน ยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงอาหารแห้ง สำนักงานเขตห้วยขวาง จึงสร้างสถานที่เพื่อจัดเก็บของบริจาคไว้ที่สำนักงานเขตเพื่อเป็นจุดบริจาคให้ผู้ที่มีความต้องการมารับได้ทุกวันพระ โดยดำเนินการมากว่า 42 สัปดาห์แล้ว ในอนาคตจะขยายให้ครบ 6 กลุ่มโซนในกรุงเทพฯ ให้มีจุดดังกล่าวอย่างน้อย 1 เขต โดยจะรวมเขตพระนครที่ดำเนินการในเรื่องของคนไร้บ้านในปัจจุบันกับส่วนของ Food Donation นี้ด้วย
นอกจากนี้ สำนักพัฒนาสังคมจะนำข้อมูลจากทุกส่วนมาเชื่อมโยงให้เป็นข้อมูลเดียวกัน และในเดือนหน้าจะนำมาข้อมูลมาประชุมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในแต่ละพื้นที่เขตเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป
การดำเนินการ Food Bank
ในส่วนของการดำเนินการ Food Bank แจกอาหารให้กับพนักงานเก็บขยะ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ Lotus ดำเนินโครงการไม่เทรวม x กินได้ไม่ทิ้งกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองต่อเป้าหมายของบริษัทฯ ในการลดปริมาณขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2573 พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการไม่เทรวม ของกรุงเทพมหานคร ด้วยการนำอาหารที่จำหน่ายไม่หมดและยังมีสภาพดีจากสาขาของโลตัส ให้กับพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอาหาร และลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
พร้อมกันนี้ก็ได้นำขยะอาหารจากสาขาส่งมอบไปพร้อมกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้นำไปบริหารจัดการใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นอาหารจาก โลตัสซุปเปอร์มาร์เกต โลตัส มินิซุปเปอร์ ซีพีเฟรซมาร์ท รวม 12,977 กก. ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ผลการดำเนินงาน และสถิติที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และสถิติที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
Bkk Food Bank ร่วมกับมูลนิธิ SOS, VV Share ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชนของ 10 สํานักงานเขตนำร่อง โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้รวบรวมสถิติของมูลนิธิ SOS ที่ดำเนินการในพื้นที่ 8 เขต ได้แก่
- เขตบางแค มีผู้บริจาค 9 สาขา บริจาคให้ 47 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 708 ราย
- เขตบางขุนเทียน มีผู้บริจาค 10 สาขา บริจาคให้ 25 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 264 ราย
- เขตภาษีเจริญ มีผู้บริจาค 7 สาขา บริจาคให้ 51 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 205 ราย
- เขตบางกอกน้อย มีผู้บริจาค 7 สาขา บริจาคให้ 36 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 3,636 ราย
- เขตคลองสาน มีผู้บริจาค 10 สาขา บริจาคให้ 34 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 160 ราย
- เขตบางพลัด มีผู้บริจาค 8 สาขา บริจาคให้ 48 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 1,357 ราย
- เขตคลองเตย มีผู้บริจาค 13 สาขา บริจาคให้ 40 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 421 ราย และ
- เขตพระโขนง มีผู้บริจาค 14 สาขา บริจาคให้ 44 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 204 ราย
ส่วน VV Share ดำเนินการในพื้นที่ 2 เขต ได้แก่
- เขตประเวศ มีผู้บริจาค 8 สาขา บริจาคให้ 45 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 762 ราย และ
- เขตลาดกระบัง มีผู้บริจาค 8 สาขา บริจาคให้ 65 ชุมชน จํานวนคนที่ได้รับอาหาร 1,447 ราย
สถิติการดำเนินงาน BKK Food Bank วันที่ 28 ก.พ.66 - 31 ส.ค.66
- นํ้าหนักอาหารบริจาค 6,033.74 กิโลกรัม ปริมาณคาร์บอนที่ลดได้ 15,265.36 kgCO2e
- รวมได้จํานวน 25,341.7 มื้อ
- ผู้รับมอบอาหารส่วนเกิน ประกอบด้วย
ผู้พิการ 781 คน
ผู้สูงอายุ 3,626 คน เด็ก1,375 คน
ผู้ป่วยติดเตียง 457 คน
คนไร้บ้าน 141 คน
ผู้ด้อยโอกาส 912 คน
ประชาชน 2,220 คน
อื่นๆ 52 คน
- ประเภทอาหารเป็น อาหารปรุงสุกพร้อมทานมากที่สุด 1,880.58 กก. เบเกอรี่ 1,741.05 กก. ผักและผลไม้ 778.14 กก. ตามลำดับ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบาย 226 ข้อ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) มิติบริหารจัดการดีและมิติสิ่งแวดล้อมดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนอาหารและลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารส่วนเกิน โดยมีการเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน อาทิ มูลนิธิ SOS, VV Share, Lotus, Tops, 7-11, Donuts, Chef Cares, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) สํานักงานเขต