ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

WHO รับรองไทย 1 ใน 5 ประเทศแรก กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร

WHO รับรองไทย 1 ใน 5 ประเทศแรก กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร HealthServ.net
WHO รับรองไทย 1 ใน 5 ประเทศแรก กำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร ThumbMobile HealthServ.net

องค์การอนามัยโลกรับรองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร เป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกที่ได้รับการรับรองสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ ทั้งด้านการออกกฎหมายควบคุม รวมถึงมีการเฝ้าระวังเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง


 
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า    ไขมันทรานส์เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมันเพื่อเปลี่ยนสภาพน้ำมันให้เป็นไขมันที่มีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว เช่น เนยเทียม เนยขาว และทำให้มีคุณสมบัติ หืนช้า มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น นิยมนำไปใช้ในกลุ่มขนมอบหรือ เบเกอรี่


        ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ  


        อย. ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อกำจัดไขมันทรานส์ ตั้งแต่ปี 2560 และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 388 พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เพื่อห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมัน หรืออาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) เป็นส่วนประกอบ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เป็นการควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต นำเข้าน้ำมันหรือไขมันที่ปราศจากไขมันทรานส์ และตรวจสอบวิเคราะห์อาหารที่อาจมีการใช้น้ำมันหรือไขมันทรานส์อย่างเข้มงวด ณ สถานที่จำหน่าย โดยอาหารที่เก็บ เป็นอาหารกลุ่มเบเกอรี่ เนยเทียม และครีมเทียม เพื่อกำกับดูแลไม่ให้มีวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันทรานส์


        นอกจากนี้ ในส่วนของผู้บริโภค อย. มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องไขมันทรานส์อย่างต่อเนื่องทุกช่องทาง


        เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศนียบัตรรับรองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหาร โดยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรก ได้แก่ ไทย เดนมาร์ก ลิทัวเนีย ซาอุดิอาระเบีย และโปแลนด์ ที่ได้รับประกาศนียบัตรดังกล่าวจากการสมัครเข้าร่วมโครงการรับรองการกำจัดไขมันทรานส์ขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ในการประเมินการกำจัดไขมันทรานส์ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินมาตรการกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมายในการกำจัดไขมันทรานส์ของไทย และให้การยอมรับว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจัง

 


         นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่าการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ  และการดำเนินการที่ผ่านมา  จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับจากสากลในการกำจัดไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรมอาหารอย่างเข้มงวด และต่อเนื่องตลอดมา ทั้งนี้ อย. ยังคงมุ่งมั่นและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป

แผนจำกัดไขมันทรานส์ขององค์การอนามัยโลก

 
การกำจัดกรดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรม (“TFA” - trans-fatty acids) ได้รับการระบุว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนงานทั่วไปครั้งที่ 13 ของ WHO ปี 2019-2023 TFA เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับโรคไม่ติดต่อ และการบริโภค TFA ที่เพิ่มขึ้น (>1% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมด) มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิต ในปี 2018 WHO ได้เปิดตัวกรอบการดำเนินการ REPLACE สำหรับการกำจัด TFA และต่อมาได้เปิดตัว 6 โมดูลในปี 2019 เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกในการขจัด TFA ที่ผลิตทางอุตสาหกรรมออกจากแหล่งอาหารประจำชาติของตน และแทนที่ด้วยน้ำมันและไขมันที่ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น
 
กระบวนการในการประเมินและตรวจสอบสถานะของประเทศสมาชิกในความพยายามที่จะขจัด TFA ที่ผลิตทางอุตสาหกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความรับผิดชอบและเร่งความก้าวหน้า วัตถุประสงค์ของโปรแกรมการตรวจสอบความถูกต้องของ WHO สำหรับการกำจัดไขมันทรานส์คือการยอมรับประเทศสมาชิกที่มีกรอบเชิงบรรทัดฐานเพื่อกำจัด TFA ที่ผลิตทางอุตสาหกรรมจากแหล่งอาหารประจำชาติของตน โดยการมอบใบรับรองการตรวจสอบความถูกต้องของการกำจัดไขมันทรานส์ของ WHO
 
 
 

นโยบายหลักเกณฑ์การพิจารณาของ WHO


WHO กำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกำจัด TFA สำหรับประเทศที่จะได้รับการพิจารณารับรอง :
การสั่งห้ามระดับชาติในการผลิต การใช้ หรือการขายน้ำมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน (การห้าม PHO) หรือ
ข้อบังคับระดับชาติที่จำกัด TFA ที่ผลิตทางอุตสาหกรรมให้ไม่เกิน 2% ของไขมันทั้งหมดในไขมัน น้ำมัน และอาหารทั้งหมด (จำกัด TFA ที่ผลิตทางอุตสาหกรรม 2%) หรือ
ข้อบังคับทั้งสองประเภท (ห้าม PHO และจำกัด TFA 2%) ที่ผลิตเชิงอุตสาหกรรม
และ นโยบายข้างต้น จะต้องมีผลบังคับใช้แล้ว: พ้นกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับของนโยบายแล้ว
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด