ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวในการประชุมรับมอบนโยบายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่าได้มอบนโยบายให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรม สบส. ปฏิรูปการทำงานแนวใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับการสาธารณสุขไทย
โดยปี 2568 กรม สบส. ได้วางนโยบายไว้ 7 เรื่อง ประกอบด้วย
1.สนับสนุนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชน ใบเดียว นำแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” เชื่อมโยงข้อมูลการรักษา อำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ
2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เน้นพัฒนา Medical Hub และ Wellness Hub ให้เห็นผลภายใน 1 ปี พัฒนากฎหมายรองรับการแข่งขัน และยกระดับผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
3.สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ผลักดันพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเตรียมพร้อมกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ เป็นของขวัญแก่ อสม. ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพ สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมสวัสดิการแก่พี่น้อง อสม.
4.สนับสนุนการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งในการจัดการสุขภาพ และสนับสนุน อสม. ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค NCDs คัดกรองสุขภาพประชาชนเพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และส่งเสริมการสร้างอาสาสมัครประจําครอบครัว (อสค.) เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
5.สนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง การผลิตและจ้างงานผู้ดูแลสุขภาพ ขับเคลื่อนโครงการสุขศาลาพระราชทาน
6.สนับสนุนมาตรฐานสถานพยาบาล ผลักดันพระราชบัญญัติมาตรฐานด้านระบบงานวิศวกรรมการแพทย์ และพัฒนามาตรฐานการออกแบบ และก่อสร้างสถานพยาบาล
7.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรและพัฒนาองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ (Trust) ผลักดันหน่วยงานภายในให้เป็นหน่วยงานในโครงสร้างองค์กรตามกฎหมาย เสริมสร้างความก้าวหน้าบุคลากร และพัฒนาหน่วยงานด้วย “พลานุภาพแห่งความไว้วางใจ”
พร้อมฝากนโยบายสำคัญอีก 1 ข้อ ในการสนับสนุนงานพระราชดำริและ โครงการเฉลิมพระเกียรติ ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในการดำเนินงาน ปี 2568 ขอให้บุคลากรในสังกัดกรม สบส. ได้นำหลักการ “คิดใหญ่ ทำใหม่ สร้างความไว้วางใจ” มาใช้ในการปฏิบัติงาน พัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยให้คิดใหญ่ มั่นใจว่าทำได้ ใช้กลยุทธ์มาร่วมปฎิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญ คือการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งจะต้องสร้างความไว้วางใจให้ตนเอง ทีมงาน องค์กร และประชาชน อันจะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ ความร่วมมือ และการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงาน