การที่เมากัญชา เพราะว่า สาร THC สามารถเข้าไปในสมองได้ เหมือนที่เรากินเหล้า นั่นละครับ
แต่การที่ THC เข้าสมองได้นั้น มีสิ่งที่มีอิทธิพลอยู่ คือ สิ่งที่ทางการแพทย์เรียกว่า Blood Brain Barrier หรือ BBB และโปรตีนที่ชื่อว่า Drug transporters
BBB ให้เข้าใจง่ายก็ เหมือน ตาข่ายที่กันไม่ให้สารเคมีหรือยาต่างๆเข้าสู่สมองได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น
สาร THC เข้าได้ เพราะมันมีคุณสมบัติความเป็นไขมันสูง และสมองของคนเราก็เต็มไปด้วยไขมัน ฉะนั้น จึงผ่านตาข่าย BBB นี้เข้าไปได้ แต่มันไม่ได้เข้าไปเต็ม 100 % นะครับ
จากการวิจัยเราพบว่า เมื่อ THC เข้าร่างกาย มันจะถูกจับไว้ด้วยโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่เรียกว่า อัลบูมิน มากถึง 97 % และเหลือเป็นอิสระแค่ 3 % เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่สมองได้ (และแต่ละคนก็มีอัลบูมินหรือการทำงานของอัลบูมินไม่เท่ากัน โรคหลายโรคก็ส่งผลต่อปริมาณหรือประสิทธิภาพของอัลบูมินด้วย)
นอกจากนั้น เรายังพบว่าในเซลล์สมองยังมีโปรตีนที่มีชื่อว่า Drug transporters หรือเข้าใจง่ายๆว่า ปั๊มน้ำ นั่นละ ซึ่งในกรณีของสาร THC สมองมีปั๊มน้ำที่ชื่อว่า P-gp and BCRP คอยปั๊มสาร THC ออกจากสมอง ซึ่งปั๊มทั้งสองนี้ในแต่ละคนประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน รวมทั้งยีนที่คอยควบคุมก็อาจมีผลแตกต่างกัน
ฉะนั้น เหตุผลของคนเราเมากัญชาไม่เท่ากัน เกิดจากความสามารถในการนำกัญชาเข้าสมองและกำจัดออกจากสมองของคนเรามีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน
กัญชา จึงมีความเฉพาะตัวในการใช้ในแต่ละคนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยาอื่นๆ จึงต้องมีความเข้าใจในตัวมันมากพอสมควร
สรุปกัญชาแต่ละคนเมาไม่เท่ากัน เพราะ กัญชาที่เหลือรอดจากการถูกจับไว้ในแต่ละคนไม่เท่ากัน และปั๊มน้ำที่ปั๊มกัญชาออกจากสมองก็ไม่เท่ากัน ถ้าเข้าได้มากปั๊มออกได้น้อย ก็จะเมาได้มากและได้นาน นั่นเอง
เมากัญชา เพราะสาร THC ในกัญชา เข้าสู่สมองเราได้ แต่ระดับการเมาอาจไม่เท่ากัน ขึ้นกับการกำจัดออกจากสมองของแต่ละคน
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี
6 เมษายน 2566