12 มกราคม 2567 ณ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอาทิ นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายสมศักดิ์ กรีชัย เลขานุการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ภาคสังคม
แนวนโยบายกัญชาของพ.ร.บ.ใหม่
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนเอง และสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงสุขภาพ ทำให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเป็นระบบมากขึ้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทางการแพทย์ การร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นำพืช กัญชามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนให้ความสนใจ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้อย่างปลอดภัย และสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 300 – 500 ราย เข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมายฉบับนี้
ความแตกต่างของร่างฉบับนี้ เทียบฉบับก่อน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แตกต่างจาก
ร่างพระราชบัญญัติที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมรายชื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มาจากร่างของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ดังนี้
1) จำนวนมาตรา จาก ๙๔ มาตราเหลือเพียง ๗๖ มาตรา
2) เปลี่ยนผู้อนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
3) การเพาะปลูกกัญชากัญชง ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่มีการขอจดแจ้งการเพาะปลูก
4) ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการสันทนาการแม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษอาญา
5) ไม่มีบทกำหนดเขตสูบกัญชาไว้เป็นการเฉพาะ และที่สำคัญ
6) ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจะยังสามารถใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ฉบับนี้ขึ้น โดยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ทั้งนี้เพื่อการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ
นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เวทีแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ..... เป็นเครื่องมือในการรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมาย กำกับ ดูแล กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งในรูปแบบ On site และ On Line ซึ่งจะมีการแสดงความคิดเห็นตามรายมาตราเพื่อสรุปเป็นประเด็น และเมื่อพ้นจากวันนี้แล้ว ยังสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
www.dtam.moph.go.th ไปจนถึงวันที่ 23 มกราคม 2567 เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 15 วัน ตามกฎหมายแล้ว จะทำสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....ให้สอดคล้อง เหมาะสม ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความคิดเห็นต่อไป