คลัสเตอร์เรือนจำ หนึ่งในคลัสเตอร์ใหญ่ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง นอกเหนือจาก คลัสเตอร์โรงงานและชุมชนต่างๆ
ด้วยจำนวน ผู้ต้องขังติดเชื้อ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นรายวัน บวกกับสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดของผู้ต้องขัง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อแบบสกัดได้ยาก
จุดที่ทำให้เกิด คลัสเตอร์เรือนจำ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำและทัณฑสถานอาจดูเหมือนเป็นพื้นที่ปิด สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินงานราชทัณฑ์ไม่สามารถควบคุมปริมาณบุคคลเข้า-ออกได้ 100%
และด้วยเรือนจำเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และการนำตัวผู้ต้องขังออกศาลได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีการหมุนเวียนการปฏิบัติงานอยู่ทุกวัน ประกอบกับภาวะการระบาดของสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ที่มีระยะฟักตัวที่นานขึ้น และไม่แสดงอาการ ทำให้อาจเกิดการเล็ดลอดของเชื้อหลังจากผ่านพ้นระยะกักตัวได้โดยง่าย
ใช้ AI หยุดวงจรการเกิด คลัสเตอร์เรือนจำ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) “ทีเซลส์” จับมือราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ และบริษัทเจเอฟ แอดวาน เมด จำกัด ได้นำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “AI” มาช่วยอ่านผลภาพรังสีทรวงอกของ ผู้ต้องขังติดเชื้อ โควิด19 ควบคู่กับอาสาสมัครรังสีแพทย์ ซึ่งทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที ภายใต้โครงการ “รังสีแพทย์จิตอาสา เพื่อแปลผลภาพรังสีทรวงอกในชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือ RadioVolunteer”
ผศ.พญ.นิทรา ปิยะวิเศษพัฒน์ หัวหน้าแผนกรังสีวิทยา (Imaging Center) MedPark Hospital และ อาจารย์พิเศษ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักของโครงการ RadioVolunteer กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“โครงการนี้เป็นการระดมอาสาสมัครรังสีแพทย์จากทั่วประเทศประมาณ 300 คน ให้การช่วยเหลือของโรงพยาบาลทัณฑสถาน จากโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีรังสีแพทย์ไม่เพียงพอในการแปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอก ซึ่งภาพถ่ายรังสีจะมีส่วนช่วยในการคัดแยกผู้ป่วย ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าเชื้อลงปอดหรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษา”
“โดย AI ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จะการแสดงผลความเชื่อมั่นว่ามีความผิดปกติแต่ละชนิด เช่น consolidation, atelectasis, fibrosis, nodule, calcification, pleural effusion, pneumothorax, pneumomediastinum, mediastinal widening, cardiomegaly รวมถึง TB ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและเหมาะสม เนื่องจากการเอกซเรย์ปอดมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความไว และความจำเพาะในการตรวจหาความผิดปกติในปอด ในกรณีที่รังสีแพทย์ไม่แน่ใจว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่ AI ก็อาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดที่อยู่เคียงข้างรังสีแพทย์”
โครงการ RadioVolunteer
ภายใต้โครงการ RadioVolunteer ที่มีรังสีแพทย์อาสาจากทั่วประเทศ พร้อมใจกันเสียสละเข้ามาร่วมในโครงการนี้ น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประเทศที่มีการทำงานในลักษณะแบบนี้ โดยทีมงานของราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ในการปรับรายงานโครงสร้าง (structure report) ให้สอดคล้องกับการทำงานของบุคลากรจำนวนมากจากที่ต่างๆ ของประเทศให้ทำงานได้ง่าย และครอบคลุมเนื้อหากับผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ต้องขัง
ทั้งนี้ ทางรังสีแพทย์จะเข้ามาแปลผล และรายงานให้อีกครั้งเพื่อความถูกต้อง พร้อมระบุข้อแนะนำต่างๆ ทำให้การอ่านภาพถ่ายรังสีทรวงอก มีความแม่นยำและรวดเร็ว ตอบสนองต่อการนำข้อมูลไปประกอบรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นวัตกรรมนี้ จึงถูกนำมาใช้เป็น นวัตกรรมช่วยวินิจฉัยหาผู้ต้องขังติดเชื้อ ซึ่งมีส่วนในการช่วยหยุดวงจรการแพร่กระจายของเชื้อใน คลัสเตอร์เรือนจำ อย่างได้ผล
#PTTNews