ยาแพกซ์โลวิด จะเป็นยารักษาโควิดชนิดทานตัวที่ 2 ของโลกต่อจาก
ยาโมลนูพิราเวียร์ ของเมอร์ค ที่เปิดไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นยาชนิดทาน ครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง จำนวน 5 วัน
ยาแพกซ์โลวิด เป็นการพัฒนาต่อยอดจากยารักษาโคโรนาไวรัสโรคซาร์ ที่ระบาดเมื่อปี 2002 เริ่มวิจัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นยามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ระงับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส ทำให้ไวรัสก่อโรคไม่ได้
ผลการศึกษา
โดยการให้ยารับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด ร่วมกับยา Ritonavir ซึ่งจะออกฤทธิ์ชะลอการสลายตัวของยา Paxlovid ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
พบว่าถ้าให้ยาเร็วภายใน 3 วันแรกหลังติดเชื้อ
จะมีประสิทธิผลสูงถึง 89%
โดยกลุ่มที่ได้รับยา 389 คน เข้าโรงพยาบาล 3 คน
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 385 คน เข้าโรงพยาบาล 27 คน
และถ้าให้ยาภายใน 5 วันหลังจากติดเชื้อ
ประสิทธิภาพลงมาเล็กน้อยเป็น 85%
โดยกลุ่มที่ได้รับยา 607 คน เข้าโรงพยาบาล 6 คน
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 612 คน เข้าโรงพยาบาล 41 คน
ทั้งนี้กลุ่มที่ได้รับยา ไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา เสียชีวิตไป 10 คน
ไฟเซอร์มีกำหนดยื่นเอกสารขออนุมัติกับ FDA สหรัฐภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีนี้ และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติภายในปลายปีนี้
ปธน.โจ ไบเดน มีคำสั่งจองยาชนิดนี้ไว้สำหรับชาวอเมริกันแล้วนับล้านโดส
"ทันทีที่ FDA อนุมัติ เราจะมียารักษาให้ผู้ที่ติดเชื้อได้ทันที ยาตัวนี้จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปกป้องชีวิตชาวอเมริกันจากโควิด"
แถลงการเปิดตัวของไฟเซอร์ ทำให้หุ้นของบริษัทพุ่งกว่า 11% ขณะที่คู่แข่งอย่างเมอร์ค ร่วงลง 10% รวมถึงหุ้นบริษัทวัคซีนอย่างโมเดอร์นา ไฟเซอร์ไบออนเทค และโนวาแวกซ์ ร่วงลงระหว่าง 11-21%
ไฟเซอร์ ได้เริ่มเจรจากับนานาประเทศถึงแผนการกระจายยา จากการเปิดเผยของ อัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอ ว่า ต้องการให้ทุกคนในโลกได้เข้าถึงยานี้ได้เร็วที่สุด สำหรับราคายานั้น เขาเผยว่า ประเทศที่มั่งคั่งจะสามารถซื้อยาได้ในราคาระดับเดียวกับยาของเมอร์ค อย่างเช่น สหรัฐที่สั่งยาของเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 เหรียญ ขณะที่ประเทศกลุ่มรายได้ต่ำจะมีออพชั่นต่างๆกันไป และ "จะไม่มีการปิดกั้นใดๆ ทั้งสิ้น" ไม่ว่าประเทศใด
แต่ถึงจะมียารักษาชนิดรับประทานออกมาแล้วก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็ยังย้ำว่า หนทางป้องกันที่ดีที่สุดก็คือวัคซีน "ยากินแต่เพียงแค่รักษา บรรเทา ลดความรุนแรงจากการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้ช่วยป้องกัน" คำกล่าวของดร.เกรซ ลี ศจ.ด้านกุมารเวช แห่งม.สแตนฟอร์ด
ไฟเซอร์ตั้งเป้าผลิตยาชนิดนี้ได้ราว 180,000 คอร์ส ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะได้ถึง 50 ล้านคอร์สภายในปีหน้า แบ่งเป็น 21 ล้านในครึ่งปีแรก และหวังจะผลิตได้มากขึ้นอีกสองเท่าในปีถัดๆไป