16 พ.ย.64 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ปัจจุบันกทม.ให้บริการวัคซีนโควิด-19 กับประชาชนไปมากกว่า 100% แล้ว จากฐานข้อมูลประชาชนที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 7,700,000 คน
อ้างอิงข้อมูล 16 พ.ย.64 มีผู้ที่ได้รับวัคซีน แบ่งได้ดังนี้
1. ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 8,734,534 ราย
2. ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 7,512,946 ราย
รวมยอดสะสม จำนวน 17,058,878 ราย
ส่วนกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กทม.ให้บริการวัคซีน เข็ม 1 จำนวน 85% เข็ม 2 จำนวน 70%
เร่งฉีดให้แรงงาน
สำหรับกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่พำนักอาศัย-ทำงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.มีแผนจะเร่งฉีดวัคซีนให้ทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้น กทม.ร่วมกับกระทรวงแรงงานให้บริการเชิงรุกโดยเปิดศูนย์ฉีดในแคมป์คนงานที่ลงทะเบียนไว้ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยเปิดให้บริการทุกวัน พร้อมกับให้สำนักงานเขตพื้นที่เร่งสำรวจแรงงานต่างชาติที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ที่กระจายทำงานหรือพักอาศัยอยู่กับนายจ้างตามสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ
หากผลสำรวจพบว่ามีแรงงานจำนวนมาก หรือเดินทางไม่สะดวกที่จะมารับการฉีด กทม.จะจัดรถ BMV เข้าไปให้บริการในแต่ละพื้นที่ต่อไป
รถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BMV) พร้อม
กรุงเทพมหานครตั้งเป้าจะให้บริการวัคซีนเข็ม 2 ให้ได้อย่างน้อย 90% ภายในเดือน พ.ย.นี้ และครบ 100% ก่อนปีใหม่ โดยการเปิดเผยของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้ กทม.ใช้ระบบการกระจายวัคซีนและการจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อให้บริการเพียงแบบเดียว แต่จากนี้จะเพิ่มเติมระบบการกระจายเพื่อให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น โดยเป็นบริการเชิงรุกและจูงใจให้คนที่ไม่อยากออกจากบ้านมาฉีดวัคซีนหรือเดินทางไปฉีดวัคซีนไม่สะดวกให้ได้รับบริการโดยทั่วถึงอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 4 แหล่งฉีดวัคซีนหลักที่ให้บริการ ได้แก่
1. โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (
รายชื่อรพ.ดูที่นี่)
2. ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ (
รายชื่อทั้ง 69 ศูนย์)
3. ศูนย์บริการวัคซีนแบบเฉพาะให้ประชาชนทั่วไปทุกกลุ่ม ทั้งคนไทยและต่างด้าว ที่ อาคารกีฬาเวศน์ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งในอนาคตจะมีการกระจายศูนย์มากขึ้น
4. รถให้บริการของหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BMV) โดยจะมีการดำเนินงานที่แตกต่างกันในแต่ละรูปแบบ เช่น รถ BMV จะให้บริการในชุมชน ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงพื้นที่สำรวจและรวบรวมความต้องการของประชาชน รวมทั้งจะให้สำนักงานเขตพื้นที่เร่งสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนทุกกลุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการเชิงรุกถึงชุมชน สร้างการกระตุ้นและแรงจูงใจให้คนที่ไม่อยากออกจากบ้านมาฉีดวัคซีนให้ได้รับบริการวัคซีนอย่างครบถ้วนทั่วถึง เป็นการกระจายการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกทางหนึ่งด้วย