ลงนามจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 30 ล้านโดส สำหรับปี 2565 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนางสาวเด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ประเทศไทย และอินโดไชน่า
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์หลังพิธีลงนามว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อ 30 ล้านโดสนั้น จะเริ่มทยอยส่งมอบให้ประเทศไทยตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 เป็นต้นไป โดยจะนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งจะฉีดได้ถึง 30 ล้านคน ยืนยันว่าวัคซีนในปี 2565 มีเพียงพอ เพราะยังมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีก 60 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนโปรตีนซับยูนิต ที่ไทยกำลังพัฒนาหากผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว จะสำรองไว้ใช้อีก 20 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 ทุกเทคโนโลยี นอกจากนี้ ในการสั่งซื้อ 30 ล้านโดส ยังมีเงื่อนไขพิเศษให้สั่งเพิ่มได้อีก 20 ล้านโดสโดยไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำเพิ่ม
ไฟเซอร์ กำลังจะยื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกับ อย.ไทย เพื่ออนุมัติให้ใช้สำหรับฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี หลังจากที่ผ่านการรับรองในสหรัฐอเมริการไปแล้วก่อนหน้านี้ และพร้อมจะนำเข้าได้ทันทีในช่วงปีหน้า เพื่อพร้อมฉีดสำหรับเด็กกลุ่มนี้ในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่า 5 ล้านคน
ลงนามจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์ส
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามสัญญาการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ระหว่างรัฐบาลไทย โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ดร.แมรี เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับการพิจารณาร่างสัญญาและดำเนินการการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ มีเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่
1.ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 500 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ในการจัดซื้อยา 5 หมื่นคอร์สการรักษา
2.สามารถนำยาเข้ามาในประเทศไทย เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไทยแล้วเท่านั้น
3.มีการเจรจาต่อรองราคายาโดยให้รวมภาษีและค่าขนส่ง
4.จำเป็นต้องดำเนินการสัญญาภายใต้มาตรฐานสัญญา (ภาษาอังกฤษ) ที่บริษัท เมอร์ค แอนด์ คัมปานี อินคอร์ปอเรท ซึ่งได้ทำสัญญากับหลายประเทศ โดยได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้ว และ
5.จัดซื้อยาเป็นไปตามเงื่อนไขการซื้อยาภายใต้เงื่อนไขการรักษาโรคโควิด 19 ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐกำหนด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 คือ 1.ป้องกันการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง 2.เสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยการให้วัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุด และ 3.รักษาผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพตามความรุนแรงของโรค โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ที่ไม่มีอาการ และใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ในผู้ที่มีอาการแต่ไม่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง กรณีที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการและมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้น ยารักษาโควิด 19 จึงมีความสำคัญและจำเป็น นโยบายการจัดหาจึงเน้นการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมมาใช้ ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิผลลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะจัดหาเข้ามานั้น มีผลการศึกษาระยะที่ 3 จากอาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการจำนวน 762 รายที่สหรัฐอเมริกา โดยติดตามหลังให้ยาเป็นเวลา 29 วัน ผลการศึกษาทางคลินิกในเบื้องต้น (interim result) พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เข้ารักษาที่โรงพยาบาล 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 53 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สรุปได้ว่ายาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงเสียชีวิตหรือรักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลางได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทยเข้าถึงยาชนิดใหม่ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์พิจารณาแล้วว่า จำเป็นต้องจัดหาและจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ โดยกรมการแพทย์รับผิดชอบสัญญาการจัดหาและจัดซื้อจำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก ทำให้มีการศึกษาวิจัยโดยค้นพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลางที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US FDA) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย สำหรับแผนการจัดหายาดำเนินการโดยประมาณการผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายต่อวัน คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา 1 พันรายต่อวัน จึงพิจารณาจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ 5 หมื่นคอร์สการรักษา ซึ่งยาขนาดบรรจุภัณฑ์ 1 หน่วย ประกอบด้วยยาขนาด 200 มิลลิกรัมต่อแคปซูล จำนวน 40 แคปซูล รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล (800 มิลลิกรัม) วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 วัน
ดร.แมรี เสรฐภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอ็มเอสดี รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด การลงนามในสัญญาข้อตกลงนี้ เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและบริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยและผลิตยานวัตกรรม ในการร่วมกันจัดการกับวิกฤตโรคระบาดในประเทศไทย
ดร.แมรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เอ็มเอสดี ได้ทำงานร่วมกันกับกรมการแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยทางคลินิก "MOVe-AHEAD Study" ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 ร่วมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมี 5 สถาบันในประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์เข้าร่วมการศึกษาดังกล่าวด้วย