นพ.ศุภกิจกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประชุมและสรุปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าควรจะยกระดับสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์น่ากังวล และตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" ซึ่งพบเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เริ่มที่ประเทศบอตสวานา และระบาด 5-6 ประเทศใกล้กันบริเวณแอฟริกาใต้ และตรวจเจอคนเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว ส่วนประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังตรวจรหัสพันธุกรรมยังไม่มีสายพันธุ์นี้ โดยยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง
"สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่บนโปรตีนหนามที่จับกับเซลล์มนุษย์ ต้องจับตาว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งมีการสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ว่า อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้ ส่วนพื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์นี้มีข้อมูลว่า ตรวจเจอเชื้อค่อนข้างมาก สะท้อนว่าอาจแพร่ติดเชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่มากพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อรายงานว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหน" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนผู้เดินทาง 63 ประเทศเข้าระบบ Test&Go ไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกา แต่จะประสานโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากทุกระบบ ส่งตัวอย่างผลบวกทั้งหมดมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันโรคยังใช้ได้ผล ทั้งเว้นระยะห่าง ลดแออัด หน้ากาก ล้างมือ และไวรัสตัวนี้ตรวจด้วย RT-PCR ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามาทางอากาศไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะมีมาตรการดูแลได้ครบถ้วน สิ่งที่กังวลคือช่องทางบก ที่ต้องเฝ้าระวังและขอให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดและประชาชนงดการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศ
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงในประเด็นนี้มาก ได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยา ลักษณะการระบาด ความรุนแรงของโรค ความเร็วการแพร่กระจายเชื้อ หรือความสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนและยา ของสายพันธุ์โอไมครอนยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกกำลังร่วมกันจับตา ส่วนประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับประเทศต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก ล่าสุด ได้วางมาตรการเรื่องผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา คือ ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐบอตสวานา , ราชอาณาจักรเอสวาตินี , ราชอาณาจักรเลโซโท , สาธารณรัฐมาลาวี , สาธารณรัฐโมซัมบิก , สาธารณรัฐนามิเบีย , สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐซิมบับเว เข้าประเทศ ตั้งแต่วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้ จะให้กักตัว 14 วันทุกราย ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก และตรวจห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0 -1 , 5-6 และ 12-13 หากไม่พบเชื้อจึงอนุญาตให้ออกมาได้ นอกจากนี้ ยังจับตาประเทศอื่นๆ ที่อาจตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ได้ เนื่องจากมีระบบการเฝ้าระวังที่ดี อย่างฮ่องกงก็ตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้เดินทางไป จึงถือเป็นกรณีนำเข้า ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ หากเหตุการณ์เปลี่ยนมีจะเพิ่มมาตการและชี้แจงให้ทราบต่อไป
"การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แถบแอฟริกาใต้มีการกลายพันธุ์ค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว คือวัคซีน ซึ่งทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อยที่สุด สิ่งที่ประชาชนจะร่วมกันทำให้ประเทศปลอดภัย คือ ร่วมกันฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง มาตรการ COVID Free Setting ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน" นพ.โอภาสกล่าว
กรมวิทย์ฯ ยืนยัน ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน ในประเทศไทย
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โควิด 19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่องค์การอนามัยโลกให้ชื่อว่าโอไมครอน (Omicron) พบเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประเทศบอสวาน่า ขณะนี้เริ่มมีรายงานพบการติดเชื้อจากหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ อิสราเอล เบลเยียม ฮ่องกง ข้อสำคัญคือบางคนที่ตรวจเจอเป็นคนที่ได้รับวัคซีนครบ และจากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายที่เราถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและรายงานในระบบ GISAID 8,067 ตัวอย่าง (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564) ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนอัลฟาและเบตาพบบ้างเล็กน้อย
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สายพันธุ์โอไมครอนถูกจัดชั้นให้เป็นสายพันธ์ที่น่าห่วงกังวล เพราะมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งสไปค์โปรตีนซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างน้อย 32 ตำแหน่ง (เทียบกับสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีนเพียง 9 ตำแหน่ง) ดังนั้นจึงต้องจับตากันต่อไปว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปนั้นจะก่อปัญหาอะไรต่อไปหรือไม่ แต่ขณะนี้ ข้อมูลความรุนแรงและการระบาดของสายพันธุ์นี้ยังมีไม่มากพอ จึงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป แต่จากข้อมูลรหัสพันธุกรรมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะแพร่เชื้อได้รวดเร็ว และน่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ ซึ่งข้อมูลการตรวจเจอเชื้อพบว่า ct ค่อนข้างต่ำซึ่งหมายความว่าปริมาณเชื้อมาก บ่งชี้ว่าเชื้อ Omicron น่าจะแพร่เชื้อได้ง่ายและอาจเร็วขึ้น ขณะนี้องค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อทราบข้อมูลสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด
สายพันธุ์ โอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของเดลตา เบตา อัลฟา หรือแกรมมาแต่อย่างใด เป็นการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ ข้อห่วงกังวลคือกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และถูกยกให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในโลกนี้ ติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำไปสู่มาตรการรับมือที่เหมาะสม โดยที่ระบบเฝ้าระวังในทางห้องปฏิบัติการของไทยมีเพียงพอ และใช้มาตรฐานเดียวกับระดับโลก สำหรับการตรวจไวรัสสายพันธ์นี้ด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือการคัดกรองด้วย ATK ยังตรวจได้เหมือนสายพันธุ์อื่น
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้ประสานกับโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของ ASQ ว่าเมื่อตรวจพบเชื้อโควิด 19 จากตัวอย่างของผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย เพื่อตรวจสอบว่าพบเชื้อไวรัสที่ตรวจพบนั้น เป็นเชื้อสายพันธุ์น่ากังวล เช่น สายพันธุ์ โอไมครอน หรือไม่
“เรื่องการตรวจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กระทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น เครือข่าย CESLIST ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในภาคใต้ ได้มีการเร่งรัดกระบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการและสอบสวนโรคร่วมกับกรมควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม ข้อควรปฏิบัติของประชาชนคือ ยังจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อมีอาการสงสัยให้รีบตรวจหาเชื้อ และที่สำคัญขอให้เร่งมาฉีดวัคซีน อย่าได้ลังเลใจ ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนตั้งสติและเชื่อมั่นในภาครัฐที่ จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์
TNN NEWS เมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 ระบุว่า โควิดสายพันธุ์ โอไมครอน ยังสามารถตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ได้ แต้ต้องใช้เทคนิคมากยิ่งขึ้นต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง ขณะนี้ได้สั่งเฝ้าระวังแล้ว เชื่อว่าการระบาดหากมากับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยอย่างถูกต้องไม่น่าห่วง แต่ที่น่ากังวลหากมีการลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดน จึงต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น พร้อมยอมรับว่า มีความกังวลเล็กน้อยเพราะสายพันธุ์โอไมครอนที่พบหลบภูมิคุ้มกัน แต่ขณะนี้บริษัทวัคซีนก็กำลังพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นรองรับการกลายพันธุ์ พร้อมขอให้ทุกคนฉีดวัคซีนโควิด-19