คําแนะนําฉบับเบื้องต้น การดูแลรักษา COVID-19 ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า15 ปี
(COVID-19 Interim Guidance: Management of Children with COVID-19)
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
ฉบับที่ 1/2565
22 กุมภาพันธ์ 2565
การระบาดของ SARS CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน มีจํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อสะสมในเด็กอายุต่ํากว่า 18 ปีตั้งแต่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 สูงถึง 77,635 ราย คิดเป็นร้อยละ21 ของผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มอายุ (ข้อมูล จาก SATCOVID team กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) เนื่องจากในการระบาดของเชื้อโอมิครอน พบผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา และจากการติดตามผู้ป่วยเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรืออาการน้อย สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ โดยให้การรักษาแบบประคับประคอง ส่วนน้อยมากที่จําเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส หรือต้องนอนโรงพยาบาล ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงพิจารณาร่างแนวทางการรักษาโควิด-19 ในเด็กให้เหมาะกับการระบาดในขณะนี้ ซึ่งแม้จะมีผู้ติดเชื้อจํานวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่สามารถรักษาโดยพักอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก โดยคําแนะนํานี้เป็นฉบับเบื้องต้น ซึ่งจะมีการออกคําแนะนําฉบับสมบูรณ์ต่อไป
ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case) ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้ผลบวก และผู้ติดเชื้อยืนยัน (confirmed case) ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ ให้ใช้ยาในการรักษาจําเพาะดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่มีอาการ (Asymptomatic COVID-19)
- ไม่แนะนํายาต้านไวรัส สามารถให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านได้อาจ ไม่จําเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors)
- แนะนําให้ดูแลรักษาตามอาการ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยไม่จําเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล
- อาจพิจารณาให้ favipiravir เป็นเวลา 5 วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น กรณีที่ไข้สูง 39องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันมากกว่า 1 วัน อ่อนเพลีย ซึม อาเจียน ท้องเสีย รับประทานอาหารได้น้อย เป็นต้น
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4
- ปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสําคัญ ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง*
- แนะนําให้ favipiravir เป็นเวลา 5 วัน อาจให้นานกว่านี้ได้หากอาการยังมาก โดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม
- สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยจัดให้มีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้ารับการประเมิน หรือรับการรักษาในโรงพยาบาลหากอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลง
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดอักเสบปานกลาง หรือ รุนแรง ได้แก่ หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกําหนดอายุ (60 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ <2 เดือน, 50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2-12 เดือน, 40 ครั้ง/นาที ในเด็ก
อายุ 1-5 ปี และ 30 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ >5 ปี)
- แนะนําให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- แนะนําให้ favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน
- พิจารณาให้ remdesivir หากเป็นมาไม่เกิน 10 วัน และมีปอดอักเสบที่ต้องการการรักษาด้วยออกซิเจน หรือมีอาการรุนแรง
- แนะนําให้ corticosteroid
5. ผู้ป่วยยืนยันที่มีข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้
- แนะนําให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- แนะนําให้ favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาล สามารถรักษาต่อแบบผู้ป่วยนอก โดยการกักตัวที่บ้านตามคําแนะนําของแพทย์
ในระหว่างที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการกักตัวอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่กําหนด เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ
หมายเหตุ:
ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนําการใช้ฟ้าทะลายโจร, Ivermectin, Molnupiravir, และ Paxlovid เพื่อการรักษา COVID-19 ในเด็ก
*กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ SARS CoV-2 ที่มีอาการรุนแรง ได้แก่เด็กที่มีโรคร่วม หรือความผิดปกติ ดังต่อไปนี้
- โรคอ้วน (น้ําหนักเทียบกับความสูง (weight for height) มากกว่า +3 SD)
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ํา
- โรคเบาหวาน
- กลุ่มโรคพันธรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
รายนามคณะอนุกรรมการโควิด-19 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
ศ. นพ.สมศักดิ์โล่ห์เลขา
พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย
ที่ปรึกษา
ที่ปรึกษา (กรมควบคุมโรค)
1. รศ. พล.ต.หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการ
2. ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ รองประธานอนุกรรมการ
3. รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ อนุกรรมการ
4. รศ. นพ.พรเทพ จันทวานิช อนุกรรมการ
5. ศ. พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อนุกรรมการ
6. ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ อนุกรรมการ
7. รศ. พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช อนุกรรมการ
8. พ.อ. ศ. นพ.วีระชัย วัฒนวีรเดช อนุกรรมการ
9. รศ. พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ อนุกรรมการ
10. ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ อนุกรรมการ
11. รศ.(พิเศษ) พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ อนุกรรมการ
12. รศ. พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ อนุกรรมการ
13. นพ.วรมันต์ ไวดาบ อนุกรรมการ
14. พญ.โสภิดา บุญสาธร อนุกรรมการ
15. อ.ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล อนุกรรมการ
16. รศ. นพ.ทวีวงศ์ ตันตราชีวธร อนุกรรมการและเลขานุการ