กระทรวงสาธารณสุขเผยควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 กรณีท่าขี้เหล็กได้แล้ว ประชาชนไปท่องเที่ยวได้ ขอสายการบินยังเข้มข้นมาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากากตลอดเวลา งดเสิร์ฟอาหาร ลงเครื่องครั้งละ 5 แถว
ส่วนกรณีบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานใน ASQ จำนวน 5 ราย ติดเชื้อขณะจากการปฏิบัติหน้าที่ 1 ราย นำไปติดเพื่อนร่วมงานนอกเวลาทำงาน 4 ราย ผู้สัมผัสทั้งหมด 280 รายไม่พบเชื้อ ส่วนผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 25 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันทั้งหมด
วันนี้ (9 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด 19 (ศบค.) พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และความคืบหน้าการติดตามโรคโควิด 19 จ.เชียงราย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 25 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันทั้งหมด ได้แก่
เมียนมา 7 ราย
สวิตเซอร์แลนด์ 6 ราย
เกาหลีใต้ 3 ราย
สหรัฐอเมริกา ตุรกี และคูเวต ประเทศละ 2 ราย
รัสเซีย สวีเดน และสิงคโปร์ ประเทศละ 1 ราย
หายป่วยเพิ่ม 6 ราย
ผู้ป่วยสะสมรวม 4,151 ราย
เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,461 ราย
มาจากต่างประเทศ 1,690 ราย
เข้าสถานที่กักกันรวม 1,164 ราย
หายป่วยรวม 3,880 ราย
เสียชีวิต 60 ราย
ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 211 ราย
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 68.5 ล้านราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5.7 แสนราย เสียชีวิตรวม 1.5 ล้านราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 15.5 ล้านราย อินเดีย จำนวน 9.7 ล้านราย บราซิล จำนวน 6.6 ล้านราย รัสเซีย จำนวน 2.5 ล้านราย และฝรั่งเศส จำนวน 2.3 ล้านราย ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมามีผู้ป่วยรายใหม่ 1,308 ราย มาเลเซียมีผู้ป่วยใหม่ 1,012 ราย
สำหรับการนำคนไทยตกค้างกลับเข้าประเทศ วันที่ 9 ธันวาคม จำนวน 609 ราย วันที่ 10 ธันวาคม 805 ราย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด 19 จากกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ขณะนี้มีจำนวน 46 ราย แบ่งเป็น
เข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ 17 ราย
เข้าทางจุดผ่านแดนและเข้าระบบกักกัน 27 ราย
และติดเชื้อในประเทศ 2 ราย
แบ่งตามรายจังหวัด ได้แก่
เชียงราย 34 ราย
เชียงใหม่ 5 ราย
กทม. 3 ราย
พิจิตร พะเยา ราชบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย
จากการตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงของกรณีผู้ติดเชื้อจากท่าขี้เหล็กรวม 1,469 ราย พบการติดเชื้อเพียง 3 ราย แปลว่าแม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง แต่จากการตรวจคัดกรองโรคที่รวดเร็ว ทำให้มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่างจากช่วงแรกของการระบาดที่พบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์ของผู้ป่วยจากท่าขี้เหล็กอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประชาชนสามารถไปท่องเที่ยวได้ เดินทางกลับมาไม่ต้องกักตัว แต่ขอให้คงมาตรการป้องกันโรค ด้วยการสวมหน้ากากอย่างถูกต้องโดยต้องครอบทั้งจมูกและปาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และสแกนไทยชนะ รวมถึงขอให้ช่วยสอดส่อง หากพบคนเดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ไม่ผ่านกักตัว 14 วัน ให้แจ้งภาครัฐทันที
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การสอบสวนโรคกรณีหญิงไทยอายุ 51 ปี จ.สิงห์บุรี มีผู้สัมผัส 55 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 37 ราย ทั้งหมดผลไม่พบเชื้อ สำหรับโอกาสการติดเชื้อสามารถอธิบายจากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ได้ คือ
การอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยรายก่อนหน้ามีโอกาสแพร่เชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยราย จ.พิจิตรและ กทม.สวมหน้ากากไม่ถูกต้อง ขณะอยู่ที่บริเวณพื้นที่รอขึ้นเครื่อง จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า บางช่วงหน้ากากตกลงมาอยู่ใต้จมูก บางช่วงตกลงมาใต้คาง แต่หญิงสิงห์บุรีมีการสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นถอดหน้ากากสั้นๆ ไม่กี่วินาทีเพื่อตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าไปข้างใน ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก แต่มีภาพบางมุมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ห้องน้ำ สถานที่อื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานได้เพิ่มการทำความสะอาด เพิ่มการแจ้งเตือนประชาชนทุก 15 นาทีในการสวมหน้ากาก จัดที่นั่งโดยเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น มีเจลแอลอฮอล์อย่างเพียงพอ ตรวจวัดไข้สอบถามอาการผู้โดยสารมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยไปปะปนกับผู้โดยสารอื่น นอกจากนี้ ขอให้ทุกสายการบินยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากบนเครื่องบินตลอดเวลา งดการเสิร์ฟอาหาร และให้ผู้โดยสารลุกออกจากเครื่องครั้งละ 5 แถว เพื่อความเป็นระเบียบและลดโอกาสการอยู่ใกล้ชิดกัน ป้องกันการแพร่เชื้อ
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า สำหรับกรณีการติดเชื้อภายในประเทศของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (ASQ) จำนวน 5 ราย จากการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 4 น่าจะมีโอกาสได้รับเชื้อก่อนคนอื่น เนื่องจากมีอาการป่วยก่อน คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน มีอาการเล็กน้อย คือ น้ำมูก คัดจมูก และเสมหะ คล้ายไข้หวัด โดยวันที่ 24-27 พฤศจิกายน ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ASQ เข้าไปวัดไข้ผู้เข้ากักกัน ซึ่งเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก 3 คน แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้เข้ากักกันติดเชื้อ ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดและมีความเสี่ยงในการรับเชื้อ หลังจากนั้นไปสัมผัสกับเพื่อนร่วมงานช่วงนอกเวลางานอีก 2 ราย คือ รายที่ 1 และ 2 โดยไปรับประทานอาหารและพักอยู่ด้วยกัน ส่วนรายที่ 3 มีประวัติสัมผัสกับรายที่ 1 และรายที่ 5 ไม่มีอาการ แต่มีประวัติสัมผัสกับรายที่ 1 และ 2
สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 5 ราย อยู่ในการดูแลของแพทย์ และสามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสทั้งหมด 280 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย (โรงพยาบาลเอกชน 31 ราย เพื่อนร่วมหอพัก 6 ราย ห้องสัมภาษณ์งานโรงพยาบาลรัฐ 7 ราย และครอบครัว 7 ราย) และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 229 ราย (โรงพยาบาลเอกชน 195 ราย ASQ แห่งที่ 1 จำนวน 14 ราย และ ASQ แห่งที่ 2 จำนวน 20 ราย) ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อ และยังมีการตรวจบุคลากรของโรงพยาบาลแผนกอื่นๆ อีก 465 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม
สารนิเทศ
9 ธันวาคม 2563