ยาและวัคซีนจากใบยาสูบ กับโควิด-19
การพัฒนาเทคนิคการได้ไปรตีนจากใบยา เพื่อใช้เป็นยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody=โปรตีนที่สามารถเป็นชีววัตถุเพื่อการรักษาโรคได้) เป็นเทคโนโลยีที่มีมามากกว่า 15 ปีแล้ว และเคยทำสำเร็จในการรักษาโรคอีโบล่าเมื่อครั้งอดีต
- นักวิทยาศาสตร์ไทย 2 ท่าน ผู้ก่อตั้งบริษัท ใบยา โฟโตฟาร์ม จำกัด สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสจากใบยาสูบชนิดพิเศษได้สำเร็จ
- เทคนิคการใช้พืชเพื่อผลิตโปรตีนนั้น มีการใช้ในหลายประทศ โดยใบยาสูบที่นำมาใช้นั้นเป็นสายพันธุ์ที่มีนิโคตินระดับต่ำมาก
- วัคซีนใบยาได้ผ่านการทดสอบในหนูและลิง ด้วยการฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบปรากฏว่าลิงมีความปลอดภัย และไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ
- ผลเลือดในลิงที่ใช้ทดลองมีค่าเอนไซม์ตับปกติ อีกทั้งจำนวนเม็ดเดือดแดงและเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้เมื่อนำเปปไทด์ไปกระตุ้นเซลล์ของลิงพบว่า มีการกระตุ้น T Cell ได้ดี ซึ่งนับว่าการทดลองดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
- กระบวนการผลิตวัคชีนที่ใช้พีช สามารถผลิตเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ ได้ และสามารถยกระดับจากการผลิตวัคซีนในห้องทดลอง มาเป็นการผลิตวัคชีนระดับอุตสาหกรรมได้ทันที
- การผลิตวัคชีนจากใบยาสูบนี้สามารถผลิตได้ประมาณ 10,000 โดสต่อเดือน ในห้องทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดในอนาคต
ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2563
ที่มา : ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของใบยา
วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤตการณ์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกในการเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยหวังว่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้มวลมนุษยชาติได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ นอกจากความท้าทายของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว กำลังการผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชากรโลกจำนวนกว่า 7,000 ล้านคนก็เป็นโจทย์สำคัญสำหรับแต่ละประเทศที่จะจัดหาวัคซีนมาสำหรับประชาชนทุกคน ด้วยเทคโนโลยี Baiyapharming ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งใช้พัฒนาและวิจัยวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยใบพืช คิดค้นและพัฒนาวัคซีนต้นแบบถึง 6 ชนิด ที่อยู่ในเป้าหมายการวิจัยและทดลองเพื่อหาวัคซีนที่ดีที่สุด โดยวัคซีนเหล่านี้พัฒนามาจากต้น Nicotiana benthamiana โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเทคโนโลยีนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา และเกิดความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต
จากวัคซีนต้นแบบทั้ง 6 ชนิด พบว่าวัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 ซึ่งได้นำไปฉีดในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาวและลิง พบว่าผลอยู่ในระดับที่น่าพอใจคือสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิดได้ในปริมาณสูงจากการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการทดสอบวัคซีนในหนูขาวอีกครั้งเพื่อทดสอบความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยละเอียดจากการทดสอบดังกล่าวทำให้จะสามารถกำหนดปริมาณ และขนาดของวัคซีนที่จะนำไปใช้ศึกษาในมนุษย์ต่อไปได้
ความคืบหน้าของเรา
Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 => PRECLINICAL => PHASE 1
วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 ได้ผ่านการทดลองในสัตว์ทดลอง (Preclinical) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นเตรียมการผลิตและการขออนุญาตทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ ซึ่งจะมีการทดลองขึ้นในปี พ.ศ. 2564
คำถามที่พบบ่อย
- Baiya ผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีใด มีส่วนเหมือนหรือแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร
ใช้เทคโนโลยี Molecular Pharming ในการผลิตวัคซีนโดยใช้พืช (Plant-based vaccine) โดยนำส่วนประกอบหนึ่งของไวรัสมาเป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีน และให้พืชผลิตส่วนประกอบที่เลียนแบบไวรัส ยกตัวอย่างเช่น ส่วนของ Receptor binding domain (RBD) หรือ หรือส่วนของ Spike protein (S-Protein) เพื่อนำส่งเข้าไปในร่างกายโดยหวังผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะกับไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยอาศัยวัคซีนเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลายในการสร้างวัคซีนและประสบความสำเร็จมาแล้ว
วัคซีนที่ใบยาผลิตนั้นสามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งปัจจุบันพบว่าสามารถเก็บไว้ได้ในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งต้องทำการศึกษาต่อไป โดยข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือสามารถพัฒนาต่อยอดได้ง่ายหากต่อไปโควิดมีการกลายพันธุ์ในอนาคตภายในประเทศ
- Baiya เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัจจุบันก้าวหน้าอยู่ในระดับใด
เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปัจจุบันทำการทดสอบวัคซีนตัวแรก Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นตอนของการทดลองในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ หนูขาวและลิง ซึ่งมีผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งในเข็มแรก และเข็มที่สอง
- คาดการณ์ว่าวัคซีนโควิด-19 ของ Baiya จะพร้อมใช้เมื่อไหร่
กระบวนการพัฒนาและวิจัยวัคซีนตามปกติแล้วจะต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ให้เรียบร้อยก่อน โดย ใบยา วางแผนเตรียมผลิตเพื่อทดลองในมนุษย์ทุกระยะให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ.2564 และจะผลิตเพื่อใช้โดยทั่วกันในปี พ.ศ. 2565 โดยหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งวัคซีนทางเลือกให้กับทุกคนในประเทศไทยได้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับป้องกันโรคโควิด-19
- ถ้าผลิตสำเร็จแล้ว วัคซีนโควิด-19 ของ Baiya จะสามารถเป็นภูมิคุ้มกันได้ระยะเวลานานเท่าไหร่ ต้องฉีดกี่เข็ม คุ้มกันได้ 100% ไหม
วัคซีนที่ผลิตจากใบพืชชนิดนี้ จากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าจะมีประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ได้ดีเมื่อฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง โดยห่างกันครั้งละ 21 วัน ส่วนระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ในร่างกายของมนุษย์นานเท่าไหร่ และจะป้องกันได้ 100% จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
- ความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตในพืชเป็นอย่างไร?
ความปลอดภัยของวัคซีนจากใบพืชของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ณ ตอนนี้ มีข้อมูลเฉพาะในสัตว์ทดลอง ทั้งในหนูและในลิง โดยเฉพาะในลิงซึ่งมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด พบว่า หลังจากได้รับวัคซีนจากใบพืชแล้ว ไม่พบอาการผิดปกติ หรือ การเสียชีวิตของสัตว์ทดลองหลังจากได้รับวัคซีนจากใบพืชไป ซึ่งเป็นผลที่ดีสำหรับการทดลองในมนุษย์ แต่ผลการทดสอบความปลอดภัยสำหรับการฉีดในมนุษย์ยังคงต้องรอการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ซึ่งมีแผนที่จะทำการทดลองในปี พ.ศ. 2564 ต่อไป
Baiya Rapid Covid-19 IgG/IgM Test kit™
จากวิกฤตการณ์โควิด-19 บริษัท ไบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้ตระหนักถึงวิกฤตนี้ จึงทำการวิจัยและผลิตชุดตรวจคัดกรอง Baiya Rapid Covid-19 IgG/IgM Test kit™ ซึ่งผลิตจาก RBD-His antigen protein, human ACE2 protein และ CR3022 monoclonal antibody โดยชุดตรวจคัดกรองนี้สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ใช้ตัวอย่างเลือดที่ปลายนิ้ว และใช้เวลาอ่านผลไม่เกิน 10 นาที สามารถใช้ทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการติดเชื้อของผู้ป่วย หากมีการสร้างภูมิคุ้มกันก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อ เพื่อที่จะแยกและสกัดการแพร่กระจายของการติดเชื้อในวงกว้างได้ ชุดตรวจคัดกรองนี้สามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจคัดกรองแบบมาตรฐานคือ Real-time PCR ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรอผล และมีราคาสูง
พิธีเปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาค 500 บาท ผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมจุฬาฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับบริจาคทุนวิจัย 500 บาท จากคนไทย 1 ล้านคน เร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืชเพื่อเตรียมทดสอบในมนุษย์ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2563 พร้อมเปิดตัว “ทีมไทยแลนด์” ร่วมพัฒนาวัคซีนสานฝันคนไทยมีวัคซีนใช้เองจากฝีมือคนไทย 100% คาดพร้อมใช้ปลายปี 2564
ในโอกาสนี้มีพิธีลงนามความร่วมมือวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซียป้องกันโรคจากไวรัสโควิด-19 ระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง และบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด โดยนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศใช้เองได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทยทั้งประเทศราว 66.5 ล้านคน นับเป็นเรื่องท้าทายแต่ก็จำเป็น ไม่ว่าจะต้องติดต่อขอจองซื้อจากต่างประเทศ สั่งซื้อนำเข้ามา หรือหากสามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแล้ว ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการควบคู่กันไป ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จองซื้อและซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไว้แล้ว จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับคนไทย 13 ล้านคน และยังได้สนับสนุน วางแผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากแหล่งอื่น โดยให้ความสำคัญสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตได้เองจากนักวิจัยไทยจากสถาบันต่าง ๆ ภายในประเทศที่ได้ผนึกกำลังกันเป็น “ทีมไทยแลนด์” ถือเป็นความหวัง เป็นความภูมิใจ และเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทยที่เราจะผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้การสนับสนุนทุกสรรพกำลังอย่างเต็มความสามารถผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยนี้สำเร็จลุล่วงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ประเทศของเราข้ามผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว”
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาลัยได้ขานรับนโยบายของกระทรวงฯ อย่างรวดเร็วด้วยการตั้ง บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท Holding Company ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) มีผลงานนวัตกรรมเชิงประจักษ์ ช่วยชาติ ช่วยคนไทยออกมามากมายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะนวัตกรรมจากงานวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ และพร้อมก้าวไปอีกขั้นเพื่อผลิตวัคซีนนี้ได้เองภายในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” เพื่อดูแลพี่น้องคนไทยและประเทศไทยให้กลับมาหยัดยืนได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง ซึ่งความสำเร็จของการค้นคว้า วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างความหวังให้กับคนไทยทั้งชาติสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ในเร็ววัน ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการพัฒนายาและวัคซีนให้กับประเทศไทย ต่อยอดเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย และจะสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยได้อีกมาก”
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “การจัดตั้งบริษัท Holding Company ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จุฬาฯ ขานรับและได้ดำเนินการภายใต้ชื่อ บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด และมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จึงรองรับและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และภาคีเครือข่าย “ทีมไทยแลนด์” ที่ร่วมลงนามประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างก้าวกระโดดและทันต่อความต้องการของประเทศและคนไทย ผ่านโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” สนับสนุนนักวิจัยไทยค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 ที่เราจะเริ่มเชื้อเชิญคนไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ไปด้วยกันกับเราด้วยการบริจาคเงินคนละ 500 บาท ให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อนำมาเป็นทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยโดยคนไทยต่อไป โดยจะเริ่มบริจาคพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา0 9.00 น. เป็นต้นไป”
การบริจาคในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอตอบแทนน้ำใจผู้บริจาค โดยผู้บริจาคทุกท่านจะได้รับสิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคลสำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ และในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิหลังจากการให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด
ขั้นตอนและช่องทางการรับบริจาควัคซีนเพื่อคนไทย
- สแกน QR CODE เพื่อลงทะเบียนและรับสิทธิในการบริจาคที่ www.CUEnterprise.co.th ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น.
- สามารถเลือกช่องทางการบริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่
2.1 ใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้แสกน QR CODE เพื่อบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำรายการจะได้รับ Bill Payment เป็นหลักฐาน
2.2 ทำรายการที่หน้าเคาเตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงยื่นบัตรประชาชนและแจ้งว่าบริจาคให้โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” จะได้ Pay-in Slip เป็นหลักฐาน
โดยรับบริจาคท่านละ 500 บาท จำนวน 1 ล้านสิทธิ (จำกัด 1 คนต่อ 1 สิทธิ)
โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยขอตอบแทนน้ำใจผู้บริจาคดังนี้
- สิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคล เช่น สุขภาพ รถยนต์ อัคคีภัย ฯลฯ สำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนลด 12% – 23%**
- ในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิ “หลังจาก” การให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด (หากมี)***
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2576-5500
Chula News
14/12/2563