ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประสบการณ์โควิดขวิด (ก.พ. 2564) - ดร.ภาพร เอกอรรถพร

ประสบการณ์โควิดขวิด (ก.พ. 2564) - ดร.ภาพร เอกอรรถพร Thumb HealthServ.net
ประสบการณ์โควิดขวิด (ก.พ. 2564) - ดร.ภาพร เอกอรรถพร ThumbMobile HealthServ.net

เรื่องราว 3 ตอนจบของ ดร. ภาพร เอกอรรถพร อจ.ชาวไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์หนักหนาสาหัสที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยโควิดทั้งตัวท่านและครอบครัว รายละเอียดทุกบรรทัดวรรคตอนมีคุณค่ามากมายในหลากหลายแง่มุม จากอาการเริ่มต้น สู่พัฒนาการของโรค ช่วงเวลายาวนานที่ร่างกายกำลังถูกคุกคามถึงที่สุด จนก้าวผ่านห้วงเวลาเฉียดตายด้วยการดูแลรักษาอย่างสุดกำลังของทีมแพทย์ จนรอดพ้นวิกฤตได้ในที่สุด และกลับมาเป็นเรื่องราวประสบการณ์ชุดนี้ ด้วยหวังว่าข้อมูลที่ปรากฏจะเป็นประโยชน์และนำทางให้สามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยากลำบากไปได้ด้วยกันอย่างปลอดภัย

ประสบการณ์โควิดขวิด (ก.พ. 2564) - ดร.ภาพร เอกอรรถพร HealthServ

ตอนที่ 1

วางแผนจะสอนหมอดูกับพาเที่ยวยูท่าห์ อริโซนา ก็มีอันเป็นไป เพราะสามีกับตัวเองดันป่วยเป็นโควิดเสียก่อน
 
ตอนนี้ประเทศไทยกำลังตื่นเต้นกับโควิด เลยจะมาบอกให้ฟังว่าอย่าไปกังวลให้มาก เพราะโรคนี้ไม่ได้มีผลกับทุกคนในลักษณะเดียวกัน มันจะส่งผลรุนแรงแต่เฉพาะกับคนที่มีโรคประจำตัว (เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง หัวใจ แพ้ภูมิตัวเอง ฯลฯ) คนที่สุขภาพแข็งแรง มันมักทำอะไรไม่ได้
 
อย่างเช่นสามีเรา... เขาติดโควิดมาจากไหนไม่รู้ อาการที่เป็นก็แค่คล้ายไข้หวัดใหญ่อย่างอ่อน พอ 8-9 วันก็หมดอาการ 
 
ก่อนไปติดโควิดมา สามีเป็นคนที่ออกนอกบ้านมากที่สุด (จ่ายกับข้าว เติมน้ำมัน ไปทำฟัน ฯลฯ) ขนาดเขาระวังตัวอย่างหนักเพราะไม่อยากเอามาติดภรรยา แต่บทอะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด
 
ตอนเริ่มเป็น เขารู้สึกกลืนน้ำลายติดขัดและเริ่มเจ็บคอ คืนนั้นเรายังคงนอนเตียงเดียวกันอยู่แม้เขาจะหันหลังให้ตลอดเวลา พอวันที่ 2 เขาเจ็บคอเหมือนจะเป็นหวัด เขาขนที่นอนลงไปนอนในห้องรับแขกชั้นล่างห่างจากลูกและภรรยาที่นอนชั้นบน พอตกดึกเขาเริ่มมีไข้ (ไม่ถึง 40 องศา) เขาก็กินยาพาราลดไข้ ช่วงนั้น เราคอยส่งข้าวส่งน้ำโดยใส่ถาดวางไว้หน้าห้องรับแขก พอเขากินเสร็จเราก็เก็บมาล้าง เราก็ว่าเราระวังตัวอยู่ แต่คงไม่พอเพราะในที่สุดก็ติดโควิดจากเขา
 
วันที่ 3 ครอบครัวเราพากันไปตรวจโควิด ไปรถคันเดียวกัน ทุกคนใส่ผ้าปิดปาก สามีนั่งข้างหลัง ตรวจแล้วพบว่า เขาเป็นโควิด แต่แม่ลูกผลออกมาเป็นลบ ถึงวันนั้นเขาเจ็บคอมากขึ้น เริ่มไอ ยังมีไข้ พอวันที่ 4 ทุกอย่างก็หนักขึ้น เวลาไอเจ็บคออย่างหนัก เริ่มมีน้ำมูกใสและมีเสมหะค่อนข้างมาก
 
พอวันที่ 5 อาการเริ่มดีขึ้น วันที่ 6 จมูกเริ่มไม่ได้กลิ่น แต่ก็กินข้าวได้ ส่งอะไรให้ ก็กินจนหมด เห็นอย่างนั้นก็รู้สึกเบาใจ เขาไม่มีอาการหายใจติดขัด ไม่มีอาการท้องเสีย แต่อาการปวดเนื้อปวดตัวมาปรากฎเอาหลังจากที่หายโควิดแล้ว 1 อาทิตย์
 
แต่พอวันที่ 7 อาการไอกลับหนักขึ้น เวลาไอร้าวไปถึงศีรษะจนต้องเอามือกดไว้ เรากับลูกชายไปตรวจโควิดอีกครั้ง ผลออกมาก็เป็นลบตามเคย (คงตรวจเร็วไป ปกติเขาให้รอ 1 สัปดาห์) 
 
พอวันที่ 8 สามีอาการกลับเริ่มดีขึ้น จมูกเริ่มกลับมาได้กลิ่น มีแรงขนาดออกนอกบ้านไปเดินในสวนสาธารณะได้

จากนั้น เขาก็เริ่มหาย แต่ก็ยังจำกัดบริเวณอยู่แต่ในห้องรับแขก เราจำกัดบริเวณอยู่ในห้องครัว เว้นห้องกินข้าวที่คั่นกลางเป็นห้องกันกระทบ
 
อยู่ในครัวนานๆ นึกเบื่อก็เปิดทีวีเต้นอโรบิค พอวันรุ่งขึ้นรู้สึกเหมือนตัวจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ฝืนลุกขึ้นทำข้าวต้มให้สามีกิน แล้วบ่นกับเขาว่าสงสัยออกกำลังกายหนักไป แล้วเราก็กลับขึ้นไปนอน พอเที่ยง โทรลงไปบอกเขาว่า เราไม่ไหวแล้ว ให้พ่อหาอะไรกินเอง จากนั้น เราก็หลับ... หลับ... หลับ...
 
หลับจนสามีทนไม่ไหว ลุกขึ้นทำกับข้าวมาให้เรากินข้างบน เราก็กินบ้าง ทิ้งบ้าง อาการมีแต่หมดแรง อ่อนเพลีย ส่วนอาการอื่นไม่มี
 
พอนอนไปได้ 2-3 วัน เราก็รู้สึกไม่สบายตัว เลยกินยาแก้ปวดเส้นประสาท (เป็นโรคแพ้ภูมิ NMOSD ที่ภูมิต้านทานตัวเองโจมตีทำลายเส้นประสาทส่วนกลางจนเจ็บปวดไม่มีวันหาย เลยมียาแก้ปวดเส้นประสาทประจำบ้านอยู่) ตื่นเมื่อไรก็กินยา ยิ่งกินก็ยิ่งหลับ สามีที่ยังกักตัวโควิดถามอาการเมื่อไร เราก็บอกปวดเส้นประสาท เขาก็เชื่อเรา
 
นอนมาประมาณ 10 วัน... 
 
จริงๆ คือจำอะไรไม่ได้เลย จำได้แต่ว่า กินข้าวได้มื้อละคำสองคำ เพลียจนอยากนอนอย่างเดียว ลูกชายมานั่งคุยอยู่ห่างๆ เราก็หลับๆ ตื่นๆ ฟัง วันนั้นเป็นวันหลังวันเกิด  (24 ก.พ. 2564) เราบอกตัวเองว่า เราสามารถหลับไปโดยไม่ตื่นมาเจอใครอีก ถึงจุดนั้นเราถึงยอมให้สามีพาเข้าห้องฉุกเฉิน หลังจากที่อ้างนั่นนี่อยู่นาน (ถ้าเข้า รพ เร็วกว่านั้น อาการอาจไม่หนักมาก แต่เนื่องจากมันไม่มีอาการอื่นนอกจากอ่อนเพลีย อยากนอน เราเลยไม่อยากเข้า รพ)
 
พอถึงห้องฉุกเฉิน หมอตรวจว่าเป็นนิวมอเนีย (อาการประจำของโควิด) และตรวจโควิด (จะรู้ผลวันรุ่งขึ้น) หมอสั่งแอดมิท ให้สามีกลับบ้านไปได้
 
พรุ่งนี้มาคุยให้ฟังต่อนะ
 

ตอนที่ 2

<ลืมเล่าให้ฟังในตอนแรกว่า เมื่อรู้ว่าสามีเป็นโควิด เราก็รีบโทรไปที่ รพ คำแนะนำที่ได้คือให้สามีแยกตัวอยู่ในบ้าน แล้วรักษาตามอาการ เป็นไข้ก็กินยาลดไข้ ไอก็กินยาแก้ไอ ไม่ต้องมา รพ ยกเว้นแต่จะมีอาการหายใจไม่ทัน เหนื่อหอบ หรือมีอาการอื่น เช่น อาการหัวใจวาย จึงให้รีบพาเข้าห้องฉุกเฉิน>
 
ต่อตอน 2
 
อย่างที่พูดปลอบใจไว้ในตอนแรกว่าไม่ต้องไปกังวลกับโควิดให้มากนัก ถ้าไม่มีโรคประจำตัว โควิดมักเล่นงานเราไม่ได้หรือเล่นได้ก็ไม่หนัก ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ควรไปติดโควิดมา เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเอาเชื้อไปแพร่ให้คนที่เขามีโรคประจำตัวรึไม่... เพราะคนที่มีโรคประจำตัวเมื่อติดโควิด อาการก็อาจหนักถึงหนักที่สุดจนถึงแก่ชีวิตได้ (ตามสถิติคนติดโควิด รอด 97% ตาย 3%)
 
อย่างเช่นเรา... แม้อาการสามีจะไม่รุนแรง แต่พอเขาเอามาติดเรา เราที่เป็นโรคแพ้ภูมิแบบต้องได้รับยากดภูมิทางเส้นเลือดทุก 6 เดือน ก็เริ่มต้นด้วยการเป็นนิวมอเนีย
 
เมื่อเข้า รพ นอนได้ 1 คืน วันรุ่งขึ้นหมอก็มาบอกว่า ผลตรวจโควิดเป็นบวก อย่างที่หมอคาดเดาไว้ โคโรนาไวรัสทำให้เป็นปอดบวม ถึงตอนนั้น เขาก็เริ่ม CT scan ปอด (หมอให้เราดูภาพสแกนในภายหลัง ตรงไหนปอดดีจะเป็นสีดำมืด ตรงไหนโควิดอัด มันจะเป็นจุดสว่างไสวเหมือนดวงดาวในค่ำคืนเดือนมืด บางที่ในปอดเรา ไวรัสอัดจนดูคล้ายกับแผนที่ดาราศาสตร์ยังไงยังงั้น)
 
เราถูกจับขังเดี่ยวอยู่ในห้อง อยากเจอพยาบาลต้องกดกริ่งเรียก มนุษย์ที่โผล่เข้ามา ทุกคนแต่งตัวเต็มยศเหมือนมนุษย์อวกาศ แต่ตอนนั้นเราไม่มีแรงจะสนใจ เพราะเพลียจัด อยากจะนอนอย่างเดียว สติสตังเลอะๆ เลือนๆ
 
พอรู้ว่าเป็นโควิด หมอสั่งให้สเตียรอยด์เข้าเส้นไว้ก่อนเพื่อให้ปอดทำงานได้ ตอนนั้น นอกจากอ่อนเพลียเอาแต่หลับแล้ว ก็ไม่มีอาการอื่น ยังหายใจปกติ ไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วย แต่เรื่องหลับนั้น หลับจริง หลับจัง ขนาดข้าวไม่กิน รับโทรศัพท์ไม่ไหว สามีกับลูกโทรหา 2 วัน 2 คืน เราก็ไม่รับสาย จนเขาเป็นห่วงกัน
 
ที่อเมริกานี้ หมอมีหน้าที่รายงานคนไข้ทุกเช้าว่าหมอได้ทำอะไรไปบ้าง ให้ยาอะไร ผลที่คาดจะเป็นอย่างไร แผนการรักษาต่อไปคืออะไร (ขึ้นอยู่กับอาการ) ตอนนี้ทีมรักษามี 2 ทีม ทีมหลักกับทีมหมอโรคแพ้ภูมิ (ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา) ในทีมหลัก ทั้งหมอทั้งนักเรียนแพทย์รวมแล้วก็ประมาณ 4-5 คน เช้าเวลามาหาคนไข้ ใส่ชุดเต็มยศยืนกันเต็มห้อง
 
มาอ่านประวัติการรักษาย้อนหลัง หมอรายงานว่า “She was treated with Dexamethasone and Remdesivir for COVID as well as Ceftriaxone and Azithromycin for a total of 5 days for possible superimposed community acquired pneumonia.” ให้ข้อมูลไว้เผื่อคนอ่านเป็นหมออาจสนใจ การรักษาคนไข้ที่เมกา ทุกอย่างต้องโปร่งใส แฟ้มประวัติหมอใช้ร่วมกับคนไข้ หมอบันทึกอะไร คนไข้สามารถอ่านได้ทันทีใน account ส่วนตัว
 
พอล่วงเข้ามาได้ไม่กี่วัน เหมือนเราจะเริ่มเหนื่อยหอบ หมอให้ออกซิเจนทางจมูกเป็น 10 ลิตร ลุกเข้าห้องน้ำไม่ได้ ธุรกิจทุกอย่างพยาบาลต้องมาช่วยปฏิบัติกันบนเตียง ตอนมารายงานผล หมอบอกว่าถ้าอาการไม่กระเตื้องขึ้นใน 2 วัน เขาจะย้ายเราไปห้องเครื่องช่วยหายใจ จากนั้นก็ถามเราว่า “ถ้าเกิดอะไรขึ้น จะอนุญาตให้ปั๊มหัวใจไหม? หรือจะปล่อยให้ไปตามธรรมชาติ” เขาบอกเขาต้องถามตอนเรายังมีสติอยู่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะได้ปฏิบัติตามประสงค์ของคนไข้ได้ถูก (แง....)
 
ช่วงนั้นป่วยหนักมากๆ ชีวิตวิกฤติสุดๆ ป่วยทำอะไรไม่ได้เหมือนกับคนนอนรอความตาย ครั้งนั้นเป็นครั้งที่สองที่ตระหนักว่า เรามาคนเดียวไปคนเดียว ลูก.. สามี.. เพื่อน.. คนรู้จัก.. ล้วนอยู่วงนอกทั้งสิ้น
 
แต่เดชะบุญ (หรือวิบากกรรมที่ต้องชดใช้ในชีวิตนี้ยังไม่หมด) ร่างกายกลับกระเตื้องขึ้นจนไม่ต้องใช้บริการทั้งเครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องปั๊มหัวใจ
 
ตอนนอนติดเตียง นอกจากหายใจลำบาก หมดเรี่ยวแรงแล้ว ก็ยังมีเรื่องความดันต่ำ (80/40) จนหมอไม่สามารถให้ยาขับน้ำจากปอด และเนื่องจากโรคแพ้ภูมิ หมอจึงตัดสินใจให้พลาสมากับเรา ถ้าเราโอเค เราต้องเซ็นอนุญาต (เพราะมีลักษณะเช่นเดียวกับการถ่ายเลือด เราต้องเสี่ยงกับเชื้อโรคที่คนยังไม่รู้จัก) เราเซ็นอนุญาตแบบหลับๆ ตื่นๆ วันรุ่งขึ้นเขาก็เอาพลาสมาถุงใหญ่มาให้ทางเส้นเลือด ตอนให้ยา พยาบาลยอมเสี่ยงอยู่ในห้องกับเรา 15 นาทีเพื่อเฝ้าดูอาการ (ปกติคนจะรีบมารีบไป) เมื่อเห็นเราไม่แพ้พลาสมา เขาก็ออกไป
 
หลังจากที่ได้ยาสารพัดอยู่สิบกว่าวัน อาการของเราก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น หมอเริ่มสั่งลดปริมาณออกซิเจนจนเหลือ 2 ลิตร เตรียมให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน (เข้าใจว่าหมอวางแผนให้ออกจาก รพ วันที่ 8 มี.ค.) 
 
เราดีใจจนน้ำตาไหล เพราะอยู่ รพ ทรมานสุดๆ หลับๆ อยู่ก็มาปลุกวัดความดัน วัดอุณภูมิ ระดับออกซิเจน อย่างน้อยคืนละ 2 ครั้ง พอตี 4 ทุกเช้ามาละ... มาเจาะเลือด แขนพรุนจนหาเส้นเลือดว่างแทบไม่ได้ ยิ่งคนเส้นเลือดเล็กอยู่แล้ว บางครั้งเจาะแตกๆ 4 ครั้งถึงจะได้เลือด ทุกเช้าและเย็นต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดใต้แขน เจ็บจนเบื่อ จะเข้าห้องน้ำทีต้องให้พยาบาลช่วย ทั้งสายน้ำเกลือ ท่อออกซิเจนใส่จมูก ทั้งเครื่องวัดระดับออกซิเจนที่ติดนิ้วอยู่ก็พ่วงกับตัวเครื่องอีลุงตุงนัง (เครื่องวัดระดับออกซิเจนส่งผลไปเข้าจอที่พยาบาลนั่งเฝ้าดูอยู่ข้างนอก) ลุกจากเตียงที ระดับออกซิเจนลดฮวบๆ ต่ำ 70 จนสามารถเป็นลมในห้องน้ำได้ (ระดับออกซิเจนไม่ควรต่ำกว่า 90)
 
พอรู้ว่าจะได้กลับบ้าน เราก็รีบโทรบอกสามีให้เตรียมตัวมารับ ทุกอย่างก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่การณ์กลับไม่เป็นดังคาด ชีวิตยังมีวิบากกรรมที่ต้องเผชิญ
 
รออ่านตอนที่ 3 ต่อละกัน
 

ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

วันที่ 8 มี.ค. วันที่คาดว่าจะได้กลับบ้าน ทุกอย่างยังเงียบสงบ พอถามหมอ หมอบอกว่าเราควรย้ายไปวอร์ดกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายก่อนกลับบ้าน เพราะร่างกายอ่อนแอเต็มทน (ถึงวันนั้น เรานอนติดเตียงมา 20+ วัน รวมเวลาทีนอนที่บ้านด้วย) 
 
เรารู้สึกเซ็ง แต่ก็รีบโทรไปบอกสามีที่รอจะมารับ เรานอนรอ รพ เตรียมการส่งตัวยังไม่เสร็จ เราก็เริ่มเป็นไข้ ไข้สูงเหยียบ 40C มากลางวัน 2 ครั้ง กลางคืน 2 ครั้ง จนหมอสั่งให้กินไทลินอลลดไข้ต่อเนื่อง
 
ขนาดกินยาลดไข้ อาการก็ยังสุดโหด พอไข้เริ่มมาก็เริ่มหนาวสั่น กดกริ่งขอผ้าห่มต่อเนื่อง บางครั้งขนาดห่ม 8 ผืน เราก็ยังสั่นพั่บๆ แต่พอบทไข้จะลด เหงื่อเริ่มออก ทีนี้ร้อนจับใจ ถีบภูเขาผ้าห่มออกแทบไม่ทัน (อย่าลืมว่าแรงจะถีบก็แทบไม่มี) ขอพัดลมมาเปิดกระหน่ำ ขอน้ำแข็งมาอม เปิดเปลื้องทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ก็ยังไม่หายร้อน พอหายร้อน สมองก็แจ่มใสขึ้น รู้สึกสบายตัว แต่สบายไปได้ไม่กี่น้ำ วงจรอุบาทก็เริ่มกลับมาใหม่
 
เราเข้าใจว่าเราหายจากโควิดแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ๆ ก็มีไข้ ถามหมอ หมอบอกว่า โควิดมักเป็นอย่างนี้ คือพอหายแล้วมันก็จะกลับมามีอาการต่างๆ อีกครั้ง ส่วนอาการก็แล้วแต่คน (อย่างสามี หายจากโควิดไปเป็นอาทิตย์ อยู่ๆ ก็ปวดตัวปวดข้ออย่างหนัก แถมหน้ามืด แต่ไม่กี่วันก็หาย)
 
หมอว่าถ้าเป็นไข้เพราะโควิดก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไร ไม่กี่วันก็หายเอง เราทนเป็นไข้รอหลายต่อหลายวัน (จำได้ว่า 6 วัน) ไข้ก็ไม่มีทีท่าที่จะลด แถมอาการกลับแย่ลง ที่เคยลุกจากเตียงได้ก็ลุกไม่ได้เพราะลมจับ จนเขาต้องเพิ่มระดับออกซิเจนขึ้นเป็น 5 ลิตร 
 
ตอนนี้หมอเริ่มเดือดร้อน เขาให้ทำ CT scan ปอดอีกครั้ง พบว่าปอดแย่ลง ทีมหมอหลักเรียกทีมหมอปอด ทีมหมอปอดขอความช่วยเหลือจากทีมหมอโรคติดเชื้อ ทีนี้มหกรรมการเจาะเลือดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้น วันๆ เจาะเลือดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ตรวจหาเชื้ออะไรต่อมิอะไรจ้าละหวั่น แถมช่วงนั้นมีเสมหะ ไอทั้งคืนจนนอนไม่ได้ หมอก็ขอให้เก็บเสมหะไปตรวจ
 
การตรวจเพาะเชื้อต้องใช้เวลา ผลแล็บยังไม่ออก หมอก็ยังไม่ขยับ ส่วนอาการเราก็ทรุดลงๆ จนเข้าวันที่ 10 จากที่เริ่มมีไข้ ในที่สุดเข้าใจว่าถึงจุดวิกฤติที่บรรดาหมอๆ ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่งั้นก็อาจสายเกินไป
 
ทีมหมอจึงตกลงกันว่าคงรอผลแล็บไม่ไหว ต้องกระหน่ำให้ยาปฏิชีวนะแบบ “Big gun” ไปเลย (หมอปอดบอก) เพราะ “Better safe than sorry” (หมอโรคติดเชื้อบอก) ที่ตัดสินใจอย่างนั้น เพราะทีมหมอโรคติดเชื้อกับหมอปอดสันนิษฐานว่าเราติดเชื้อแบ็คทีเรียที่ปอดทำให้เป็นปอดบวมอีกครั้ง (เราขอบคุณการตัดสินใจของทีมแพทย์ทุกทีมมาจนทุกวันนี้ เราคิดว่าเขาตัดสินใจถูก)
 
“Big gun” ของหมอปอด คือการให้ยาปฏิชีวนะเข้าเส้นต่อเนื่อง ถุงละ 4 ช.ม. วันละ 3 ถุง ยาที่ให้มีไว้กำจัดแบ็คทีเรีย (ไม่เกี่ยวกับไวรัสโควิด) เขาให้ยาแบบล้างบาง แบ็คทีเรียอะไรก็อยู่ไม่ได้ (ภายหลังผลแล็บจากเสมหะพบเชื้อ Gram Negative ในปอด)
 
เราได้รับยาไปแค่ 48 ชั่วโมง อาการไข้ก็หายเป็นปลิดทิ้ง ชีวิตเริ่มกลับมามีหวัง แต่ปอดยังต้องใช้ปริมาณออกซิเจน 4 ลิตร ลดไม่ได้ ส่วนยาปฏิชีวนะก็ให้ต่อเนื่องต่อไปอีก 7 วัน
 
ตอนนี้ร่างกายอ่อนแอเต็มแก่ แขนขวาติดเข็มน้ำเกลือแนบข้างตัวเป็นเดือน ทำให้มวลกล้ามเนื้อฝ่อลีบยกแขนไม่ได้ ขาก็เช่นกัน ด้วยความที่ไม่ได้ใช้ กล้ามเนื้อจึงหายไปเหลือแต่หนังเหี่ยวเป็นพวงๆ 
 
ช่วงนั้นพยายามลุกจากเตียงเข้าห้องน้ำเอง (ห่างจากเตียง 2 เมตร) เดินถึงห้องน้ำก็หายใจไม่ทันแทบจะเป็นลม นั่งห้องน้ำทีไร พยาบาลที่ปกติเรียกยากเรียกเย็นจะวิ่งเข้ามาล้อมห้องน้ำเป็นฝูง เพราะเขาเห็นระดับออกซิเจนตกฮวบจากจอมอนิเตอร์ พยาบาลจะเข้าเพิ่มระดับออกซิเจนเป็น 7 ลิตร และหิ้วเราจากห้องน้ำพาไปที่เตียง แล้วสั่งห้ามไม่ให้เราเข้าห้องน้ำเองเด็ดขาด
 
อาการหายใจไม่ทันและชีพจรเต้นเร็วเกินพิกัดไม่ได้หายง่ายๆ ทีมกายภาพบำบัด 2 ทีม (Physical Therapy PT กับ Occupational Therapy OT) ถูกส่งเข้ามาบังคับเราเดินและยกแขนยกขา เดินได้ไม่กี่ก้าวก็หอบจะเป็นจะตาย ไม่น่าเชื่อว่าจากคนแข็งแรงที่เดินป่าเดินเขาเป็นวันๆ จะหมดสภาพขนาดนี้
 
เล่าไปก็เลื่อนเปื้อน สรุปว่า เราเข้า รพ วันที่ 24 ก.พ. ออกวันที่ 23 มี.ค. (พร้อมถังออกซิเจนส่วนตัว) จริงๆ หมออยากให้ไปอยู่วอร์ดฟื้นฟูต่อ แต่เราปฏิเสธสุดฤทธิ ขี้เกียจให้พวก PT กับ OT มาบังคับเราให้ทำนั่นทำนี่ กลับบ้านไปกายภายบำบัดเองดีกว่า (แต่แท้จริงแล้ว เราคิดถึงสามี คิดถึงลูก คิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารมังสวิรัติอร่อยๆ)
 
ก่อนจบ อยากเล่าให้สาวๆ ฟังว่าทำไมไม่ควรเป็นโควิด เราอยู่ รพ เป็นเดือน อย่างมากก็ได้แต่เช็ดตัว 2 วันครั้งบ้าง 5 วันครั้งบ้าง คือทั้งเดือนไม่ได้อาบน้ำ ผมไม่ได้สระ พอสักอาทิตย์ พยาบาลจะเอาหมวกพลาสติกแบบหมวกอาบน้ำหนาๆ ข้างในเป็นสารเคมี มาครอบผม ขยี้ๆ เป็นอันเสร็จไม่ต้องใช้น้ำ (ผมไม่มีกลิ่น แต่สิ่งที่สะสมไว้ไม่ได้ล้างออก) ตอนออกจาก รพ มีความรู้สึกเหมือนสัตว์ป่า พอถึงบ้าน อาบน้ำเองยังไม่ได้เพราะยกแขนไม่ขึ้น แถมเหนื่อยหอบ สามีต้องช่วยอาบน้ำให้ ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ท่อน้ำเกือบจะตันแล้วก็ยังกำจัดสิ่งที่สะสมไว้ไม่หมด อาบน้ำเสร็จรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นมนุษย์มากขึ้น แม้รูปร่างจะคล้ายยิวที่อยู่ในค่ายกักกันก็ตาม (น้ำหนักหายไป 6 กิโลกรัม)
 
พอกลับถึงบ้าน ได้เจอสามีเจอลูก เจออากาศบริสุทธิ (พอดีหมดหนาว เข้าฤดูใบไม้ผลิ) เห็นดอกไม้บานจากหน้าต่าง กินอาหารถูกปาก สภาพจิตใจเบิกบาน ร่างกายก็ค่อยๆ ฟื้น อยู่บ้านได้ 4 วันก็ถอดออกซิเจน เริ่มลุกจากที่นอน เริ่มเดินขึ้นลงบันได เริ่มออกสวน เริ่มเล็มต้นไม้เพิ่มกล้ามเนื้อแขน 
 
ตอนที่นั่งเขียนเล่าเรื่องนี้เป็นเวลา 21 วัน หลังจากออกจาก รพ (วันนี้วันที่ 13 เม.ย. วันสงกรานต์) ระดับออกซิเจนคงที่ประมาณ 98 ส่วนชีพจรยังมีปัญหา ทำอะไรมากๆ ชีพจรก็จะเต้นเร็วเกิน 100 บางครั้งขึ้นถึง 130 แต่ก็เหนื่อยน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อวานก็อุตส่าห์หนีไปเดินป่ามา (เดินไปได้ 1.7 ไมล์ แต่ต้องไปช้าๆ)
 
เรื่องการป่วยโควิดในอเมริกาของคนสองคนก็จบลง หวังว่าคนอ่านจะได้ข้อมูลไม่มากก็น้อยจากบทความ 3 ตอนจบนี้
 
(ป.ล. สามีกับลูกไปฉีดวัคซีนมาเรียบร้อย เราเองรอพบหมอก่อน พอหมออนุญาต เราก็จะฉีดตาม)

 
เรื่องและภาพ ดร. ภาพร เอกอรรถพร
ประสบการณ์โควิดขวิด (ก.พ. 2564)
ตอนที่ 1 - ตอนที่ 2 - ตอนที่ 3

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด