โรคไบโพลาร์ (Bipolar) หรือ “โรคอารมณ์สองขั้ว” เป็นโรคทางด้านอารมณ์กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่มีลักษณะของอารมณ์สองช่วง คือ อารมณ์ครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนาน สลับกับอารมณ์ซึมเศร้า
สาเหตุของโรค : เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง มีสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุล คือ มีสารซีโรโทนิน (Serotonin) น้อยเกินไป และสารนอร์เอพิเนฟริน (Epinephrine) มากเกินไป และยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย
ลักษณะอาการ : ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ มีอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย ลังเล ตัดสินใจไม่แน่นอน และมีความคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น ส่วนในช่วงอารมณ์รื่นเริงจะสนุกสนานผิดปกติ มีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบอาการหลงผิด จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้
การรักษา : พบจิตแพทย์เพื่อเข้าสู่การบำบัด และรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (Antipsychotics) และยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressants) นอกจากนี้ต้องได้รับการใส่ใจดูแลจากคนรอบข้าง
ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มากเป็นอันดับ 3 ของโรคทางจิตเวช นอกจากนี้ข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย เนื่องมาจากความเจ็บป่วยหรือพิการมากเป็นอันดับ 6 ของโลกอีกด้วย โดยมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 5 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ
ภายใต้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมดูแลผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้ป่วยโรคไบโพโบลาร์ ไม่เพียงแต่การรักษาในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์บริการ “สายด่วนสุขภาพจิต 1323” ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เริ่มในปี 2566 นี้ เพื่อดูแลคนไทยทั้งประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นช่องทางในการเข้าถึงบริการดูแลด้านสุขภาพจิตโดยเร็ว