ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แนะ 5 เคล็ดลับ หญิงวัย 45 อัพ รับมือวัยทอง

แนะ 5 เคล็ดลับ หญิงวัย 45 อัพ รับมือวัยทอง Thumb HealthServ.net
แนะ 5 เคล็ดลับ หญิงวัย 45 อัพ รับมือวัยทอง ThumbMobile HealthServ.net

18 ตุลาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันสตรีวัยทองโลก (World Menopause Day) เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญและตระหนักในการเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของสตรีในช่วงใกล้หมดและหลังหมดประจำเดือน กรมอนามัยแนะนำสตรีวัยดังกล่าวด้วย 5 เคล็ดลับ เพื่อการเตรียมรับมือหรือขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพวัยทอง ได้ที่คลินิกวัยทองใกล้บ้าน

 
          องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 18 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีวัยทองโลก (World Menopause Day) เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญและตระหนักในการเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของสตรีในช่วงใกล้หมดและหลังหมดประจำเดือน ซึ่งในช่วงอายุ 45 - 55 ปี เมื่อย่างเข้าสู่วัยทองจะพบการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการทำงานของรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จนถึงหมดประจำเดือน ถ้าประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี แสดงว่ารังไข่ ได้หยุดทำงานแล้ว ถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา สังเกตได้จาก 3 สัญญาณ บ่งบอกอาการวัยทอง คือ

1) จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวและหน้าอก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน

2) ช่องคลอดแห้ง ผิวหนังแห้ง ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ความต้องการและความรู้สึกทางเพศลดลง

3) โรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
 


 
 

คำแนะนำ 5 วิธี รับมือวัยทอง




การดูแลสุขภาพเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สตรีวัยทอง สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 วิธี คือ

1) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ นม โยเกิร์ต งาขาว งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น แคลเซียมที่รับเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน และกินอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในปริมาณพอเหมาะจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบของสตรีวัยหมดประจำเดือนได้

2) ลดอาหารประเภทแป้ง อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

3) ออกกำลังกายเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และให้ร่างกายได้รับแสงแดดบ้าง เพื่อช่วยในการสร้างวิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าที่รับน้ำหนักมาก อาจเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม

4) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มความจำ ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว และ

5) รู้จักผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส

 
 
           “ทั้งนี้ หากพบว่าอาการดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้น หรือ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้ารับบริการคลินิกวัยทอง คลินิกส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการวัยทอง และให้บริการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เพื่อประเมินอาการ รับคำแนะนำแนวทางการป้องกัน รักษา และดูแลตนเองที่ถูกต้อง ตามความเหมาะสมต่อไป” นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด