ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคไตเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน ภาวะโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน ภาวะโรคไตเรื้อรัง

โดยปกติในวัยผู้ใหญ่ ไตของคนเราจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลงอย่างช้าๆตามอายุ โดยเฉลี่ยการทำงานของไตจะลดลงปีละประมาณ 1% แต่หากไตมีความผิดปกติหรือเกิดโรค การทำงานของไตก็จะเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ กรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทำงานทันทีเรียกว่า “ไตวายเฉียบพลัน” ซึ่งในกรณีนี้ไตอาจจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้าไตเสื่อมลงอย่างช้าๆต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะเมื่อการทำงานของไตลดน้อยลงต่ำกว่า 60 % จะเรียกว่า “ภาวะโรคไตเรื้อรัง”
 

สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรังเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยได้แก่ เป็นผลจากโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง  นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาเหตุ  ไม่ว่าจะเป็น โรคเก๊าท์  นิ่วในไต ไตอักเสบ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ  รวมถึงอาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา และสารเคมีต่างๆ ได้แก่ ยาแก้ปวดที่เรียกว่า “เอ็นเสด (NSAID)” และยาปฏิชีวนะบางตัว เป็นต้น  
 
นอกจากนี้ ยังเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เช่น เด็กที่น้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม โดยไตของเด็กนี้จะทำงานน้อยกว่าเด็กทั่วไป  เด็กที่มีความผิดปกติของไตโดยกำเนิด เช่น ไตที่มีขนาดเล็ก มีการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคถุงน้ำในไต 
 

การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไตเรื้อรังโดยเฉพาะในระยะแรกๆ มักจะไม่รู้ว่าตนเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากจะไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจนให้รู้ หรือมีอาการแต่ไม่รู้ว่า ไตเสื่อม ดังนั้น จึงไม่สามารถจะวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง จากอาการได้โดยง่าย ต้องอาศัยการตรวจเลือดและปัสสาวะ  ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังดังที่กล่าวมาเบื้องต้น รวมถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคไตเรื้อรังอย่างน้อยทุก 1 ปี เพื่อจะได้เข้ารับรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ

สัญญาณอันตรายบ่งบอกว่าเป็นโรคไต มี 6 อาการ ได้แก่

  1. ปัสสาวะขัดหรือลำบาก  เป็นอาการที่บ่งชี้ว่าท่านมีปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะ  และอาจเป็นโรคไตด้วย  แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
     -อาการปัสสาวะแสบขัดที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  ซึ่งมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  ท่านที่เป็นชายถ้ามีอาการนี้อาจมีโรคนิ่วระบบไตหรือต่อมลูกหมากโตซ่อนอยู่ก็ได้  หรือบางครั้งท่านอาจมีไข้และปวดเอวร่วมด้วย
     -อาการถ่ายปัสสาวะลำบาก  ต้องเบ่งแรง  ปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน  บางท่านอาจมีปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะกลางคืนร่วมด้วย  บ่งบอกถึงว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ  ที่พบบ่อยได้แก่  ต่อมลูกหมากโตในเพศชายหรือมดลูกหย่อนในเพศหญิง
  2. ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ในคนปกติ  เมื่อคนเรานอนหลับ 6 - 8 ชั่วโมง มักจะไม่ตื่นขึ้นมาปัสสาวะของคนเราสามารถเก็บปัสสาวะไว้ได้ประมาณ  250 ซีซี หรือเท่ากับน้ำ 1 แก้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะเวลากลางคืน  แต่ในผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง  ไตจะไม่สามารถลดการสร้างปัสสาวะได้ในตอนกลางคืน  จึงมีปัสสาวะออกมาก  ดังนั้นในตอนกลางคืนจึงต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ  โดยทั่วไปท่านอาจตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืน 1 - 2 ครั้ง ถ้าท่านดื่มน้ำก่อนนอน  หรืออาจจะเป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก  ถ้ามีอาการเช่นนี้โดยไม่เป็นมาก่อนควรปรึกษาหมอ หรือบางครั้งการปัสสาวะกลางคืนนอกจากเป็นอาการของโรคไตแล้ว อาจพบในผู้ป่วยเบาหวาน  ผู้ที่มีอาการบวมจากเหตุอื่นๆ  ผู้ที่กินยาขับปัสสาวะ  ดังนั้นหากท่านมีอาการดังกล่าวทางที่ดีควรปรึกษาหมอ
  3. ปัสสาวะเป็นเลือดสีน้ำล้างเนื้อหรือขุ่นผิดปกติ ปัสสาวะจะมีสีเหลืองใส  อาจมีสีเข้มข้นเมื่อดื่มน้ำน้อยและจางลงเมื่อดื่มน้ำมากๆ  ถ้ามีปัสสาวะสีแดงคล้ายเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ บ่งบอกว่าอาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ  ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีนิ่ว ไตอักเสบ หรือเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ  เป็นต้น  ปัสสาวะเป็นเลือดอาจเกิดจากโรคนิ่วหรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือเกิดจากไตอักเสบ  เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ  หรือโรคเลือดที่ทำให้มีเลือดออกง่าย
  4. อาการบวมรอบตา บวมหน้า บวมเท้า บวมรอบตา บวมที่หน้า อาจสังเกตได้ง่ายเวลาที่ตื่นนอน ส่วนเท้าบวมอาจพบเมื่อเข้าช่วงบ่าย  หรือเมื่อมีกิจกรรมในท่ายืนเป็นเวลานานๆ สังเกตได้จากแหวนหรือรองเท้าที่เคยสวมใส่จะคับขึ้น  เมื่อใช้นิ้วมือกดที่เท้าหรือหน้าแข้งจะมีรอยบุ๋ม อาการนี้อาจเกิดจากโรคไต  นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัวใจหรือโรคตับก็ได้

    อาการที่กล่าวถึงโรคไตเรื้อรังนี้หมายถึง  ลักษณะบวมที่หลังเท้าและหน้าแข้ง  ถ้าเป็นมากจะกดแล้วเป็นรอยบุ๋ม มีโรคไตหลายโรคที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการบวม  อย่างไรก็ตาม พบว่าคนที่มีอาการบวมจำนวนมากละเลยเพราะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใดๆ  บางท่านอาจไม่อยากตรวจเพราะกลัวว่าหมอจะบอกว่าเป็นโรคไต  ดังนั้นบางทีก็ปล่อยเวลาล่วงเลยมาเป็นเดือนเป็นปี  หรือไม่ก็มีอาการบวมมากจนทนไม่ไหวต้องมาหาหมอ
  5. ปวดหลัง ปวดเอว อาการนี้เป็นอาการที่พบบ่อยมาก  แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อจากการทำงาน  ซึ่งมักหายได้เองจากการหยุดพักงานหรือกินยาแก้ปวด สำหรับอาการปวดหลัง ปวดเอว ที่เกิดจากโรคไต มักมีสาเหตุมาจากนิ่วอยู่ในไตหรือในท่อไต อาการปวดเป็นผลมาจากการอุดตันท่อไตหรือไตเป็นถุงน้ำโป่งพอง  โดยลักษณะการปวดจะเป็นดังนี้  คือ จะปวดที่บั้นเอวหรือชายโครงด้านหลัง  และมักมีปวดร้าวไปที่ท้องน้อย  ขาอ่อน  หรืออวัยวะเพศ  อาการปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง  สิ่งผิดปกติที่มักพบร่วม  คือ ปัสสาวะมีสีน้ำล้างเนื้อ  หรือขุ่นขาว  อาจมีปัสสาวะกระปริบกระปรอย  หรือมีอาการปวดหัวเหน่าร่วมด้วย
  6. ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงเป็นอาการสำคัญของโรคไตเรื้อรัง  โดยเฉพาะรายที่มีความดันโลหิตสูงมานานและควบคุมไม่ได้  โรคไตที่หมอมักจะนึกถึงคือ โรคไตเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแดงไตตีบ  เนื่องจากความดันโลหิตสูงโดยตัวมันเองอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดหัว  มึนงง  เป็นต้น  ดังนั้นท่านควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ  อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
 
สัญญาณอันตรายข้างต้นที่กล่าวมา  อาจเป็นการบ่งชี้ถึงการทำงานของไตของท่านที่เกิดผิดปกติขึ้นแล้ว ดังนั้นหากเกิดสัญญาณเหล่านี้  ควรรีบเข้าพบและปรึกษาแพทย์ทันที  เพราะโรคไตบางชนิด หากทราบว่าเป็นและรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถรักษาแก้ไขได้  ในรายที่มีอาการของโรคไตเข้าขั้นรุนแรงแล้ว การรักษาทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของไตได้เท่านั้น  มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมาตรวจรักษาและพบว่าไตหยุดทำงานแล้ว เนื่องเพราะผู้ป่วยมีอาการมานานแล้ว แต่ไม่ยอมมาตรวจรักษา  จึงน่าเสียดายเพราะจะต้องรักษาด้วยวิธีการล้างไตเท่านั้น  และอาจจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
 
ความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง แบ่งการป่วยออกเป็น 5 ระยะ คือ
  1. โรคไตเรื้อรังในระยะที่ 1 ไตยังทำงานปกติ แต่ตรวจพบความปกติของไต เช่น พบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือ พบเม็ดเลือดขาวเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ อาจเรียกได้ว่า “ไตเริ่มผิดปกติ”
  2. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 2  ไตทำงานเหลือ 60-90%  หรือไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น
  3. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3  ไตทำงานเหลือ  30-60% หรือไตเรื้อรังระยะปานกลาง
  4. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4  ไตทำงานเหลือ 15-30%   หรือไตเรื้อรังรุนแรง
  5. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5  ไตทำงานเหลือน้อยกว่า 15%  หรือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 
 

วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไต

 

การดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังมีหลายลักษณะ  โดยจะต้องรักษาตามระยะของโรค ดังนี้
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1  ต้องงดสูบบุหรี่ รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไต โรคไตเรื้อรัง
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1  ต้องจำกัดความเค็ม
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3  จำกัดอาหารโปรตีน 
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4  จำกัดการกินผลไม้ 
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5  ต้องรักษาโดยการล้างไตหน้าท้อง ฟอกเลือด หรือผ่าตัดปลูกไต ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย 
 
ทั้งนี้ในปัจจุบันนับว่าวิทยาการทางแพทย์ในการรักษาโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยนั้น มีความทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุโรป และสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงเชื่อมั่นได้ในประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของแพทย์ชาวไทยที่มีศักยภาพทัดเทียมต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษา หรือผ่าตัดในต่างประเทศ

ขอบคุณข้อมลจาก สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด