โรคหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้นในผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ
Obstructive sleep apnea (OSA) หรือ โรคหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้น เกิดจากมีการอุดกั้นของทางเดินอากาศส่วนบนเป็นครั้งคราวในระหว่างการนอนหลับ ส่งผลให้เกิดการลดลงหรือการหยุดไหลของอากาศเข้าสู่ปอด ตามมาด้วยภาวะพร่องออกซิเจน ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง และภาวะการตื่นของสมองระหว่างนอน สามารถพบโรคนี้ได้สูงถึงร้อยละ 11.4 ในประชากรไทย (Neruntarat C, Chantapant S. Prevalence of sleep apnea in HRH Princess Maha Chakri Srinthorn Medical Center, Thailand. Sleep Breath 2011; 15:641-8) อาการของโรคนี้ที่สำคัญคือ ในเวลากลางวันจะง่วงนอนมาก มีสมาธิในการทำงานลดลง และการตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญผิดพลาดได้ง่าย (Gurubhagavatula I, Tan M, Jobanputra AM. OSA in professional transport operations: safety, regulatory, and economic impact. Chest 2020; 158: 2172-83)
ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะโดยเฉพาะในกิจการขนส่งมวลชน มีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและประชาชนรอบข้าง พบว่าหากผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะเป็นโรค OSA จะเพิ่มอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานได้สูงขึ้น สมาคมอุรเวชช์ฯ จึงขอเสนอให้มีข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ขอรับอนุญาตให้ขับขี่รถยนต์สาธารณะดังนี้
1. ต้องได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ เพื่อออกหนังสือรับรองว่าไม่ได้เป็นโรค OSA อยู่เดิม และไม่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค OSA ในระดับปานกลางถึงรุนแรง คือ มีอาการง่วงนอนมากตอนกลางวัน (Epworth Sleepiness Scale มากกว่า 9 คะแนน) ร่วมกับมีลักษณะอีก อย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ คือ
- กรนดังเป็นประจำ
- มีผู้สังเกตพบหยุดหายใจ หรือหายใจเฮือกแรง หรือหายใจติดขัด ในระหว่างนอนหลับ
- ได้รับการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงโดยแพทย์
2. ในกรณีแพทย์พบมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค OSA ในระดับปานกลางถึงรุนแรง ให้ทำการส่งต่อให้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ (sleep-disordered breathing) เพื่อทำการตรวจการนอนหลับตามมาตรฐานเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค OSA
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรค OSA อยู่เดิมหรือได้รับการวินิจฉัยใหม่ดังในข้อ 2. จะต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานด้วยเครื่องอัดอากาศ (CPAP) อย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยร้อยละ 70 ของวันที่นอน และ อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมงต่อวัน) เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน และ อาการอาการง่วงนอนมากตอนกลางวันหายไป และ ข้อมูลที่บันทึกในเครื่องอัดอากาศพบการหยุดหายใจเหตุอุดกั้นลดลงเหลือน้อยกว่า 10 ครั้งต่อชั่วโมง แล้วจึงจะได้รับการประเมินโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ ว่าปลอดภัยเพียงพอเพื่อยื่นขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ
4. ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะและได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค OSA แล้ว จะต้องเข้ารับการประเมินความพร้อมการต่อใบอนุญาต โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับทุกๆ 1 ปี ว่าโรคควบคุมได้ดีหรือไม่
5. ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะแต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค OSA จะต้องเข้ารับการประเมินความพร้อมการต่อใบอนุญาต โดยแพทย์ตามข้อ 1. ทุกๆ 2 ปี ว่ามีโรค OSA เกิดขึ้นใหม่หรือไม่
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์