วันนี้ (8 ธันวาคม 2564) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 21 (ครั้งที่ 3/2564) โดยมี นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้พิจารณาแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 โดยได้กำหนดแนวคิดในการรณรงค์ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ภายใต้คำขวัญ 3 ม."สวมหมวก ใส่แมส ไม่เมา" เน้นผู้ขับขี่ยานยนต์ทุกประเภท โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี และผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงก่อนขับขี่
รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ในการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยควบคุมการจำหน่ายให้กับเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ห้ามมีโปรโมชั่นและการโฆษณาในสื่อทุกประเภท จำหน่ายตามเวลาและสถานที่ และ เปิด - ปิด สถานบริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ได้แก่ การทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ด่านชุมชน โดยสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น และให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านรายงานข้อมูลผ่านระบบ E-Report ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน, คัดกรองและส่งต่อผู้กระทำความผิดฐานเมาแล้วขับและถูกศาลสั่งคุมความประพฤติทุกรายที่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง และร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ และสนับสนุนด่านชุมชนที่ขอความช่วยเหลือกรณีคนเมาปฏิเสธการตรวจอาการมึนเมา รวมถึงการสุ่มตรวจสถานบริการ และบริเวณที่มีการจัดงาน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีพบว่ามีอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สรุปสถิติอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 392 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,326 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 33.60% และดื่มแล้วขับ 33.06%