ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคไข้หวัดมะเขือเทศ พบในผู้ป่วยเด็กในอินเดีย ยังไม่พบในไทย

โรคไข้หวัดมะเขือเทศ พบในผู้ป่วยเด็กในอินเดีย ยังไม่พบในไทย Thumb HealthServ.net
โรคไข้หวัดมะเขือเทศ พบในผู้ป่วยเด็กในอินเดีย ยังไม่พบในไทย ThumbMobile HealthServ.net

เหตุที่ตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ซึ่งอาการจะไม่รุนแรงและหายเองได้ หมอยงชี้ ลักษณะอาการผื่นที่ขึ้น คล้ายโรคมือเท้าปาก สธ.ระบุยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย

    
 
          28 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  จากกรณีมีรายงานข่าวที่ประเทศอินเดียพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ดังกล่าว


          ซึ่งจากการติดตามพบว่า ผู้ป่วยในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยคน ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก จึงทำให้กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ


          อาการโรคไข้หวัดมะเขือเทศ  เริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ (โรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด) จากการสันนิษฐานลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการเด็กที่ป่วยจะคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยได้ในเด็ก ไม่ใช่โรคติดเชื้อชนิดใหม่  


 
          ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นที่มี สามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และในปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ และในช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
 

ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) - นพ.ยง ภู่วรวรรณ 

 
ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมือง Kerala ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ร่วมร้อยคน และยังมีการพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odisha

การตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ 

ลักษณะอาการ จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำ 

โรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต 

จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก มือเท้าปาก
ที่จริงแล้วการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ

จากที่ผมได้ติดตาม และดูลักษณะผื่นที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย  แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้คือผื่นที่ขึ้นเหมือนกับ โรคมือเท้าปาก ที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่นๆที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก ก็จะดูค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในบ้านเรา และในปีนี้ ในบ้านเราก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 และมีลักษณะผื่นค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป เป็นโรคมือเท้าปากที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่ 
 
รูปที่แสดง เป็น โรคมือเท้าปาก เชื้อ CA6
 
ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย เท่าที่ติดตามอยู่ขณะนี้ ในเด็กเล็กจะมีอาการปวดข้อน้อยมาก ไม่เหมือนผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ 
 
เราคงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดในอินเดียเกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์ของผมเชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก


ยง ภู่วรวรรณ 
ราชบัณฑิต 
28 สิงหาคม  2565
 
โรคไข้หวัดมะเขือเทศ พบในผู้ป่วยเด็กในอินเดีย ยังไม่พบในไทย HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด