แนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอโรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอโรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า เนื่องจากสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เป็นปัจจัยหลักในการผลิตยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับแหล่งผลิตยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำ ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดมีความพยายามนำเข้าสารเคมีจากประเทศต่าง ๆ เข้าไปยังแหล่งผลิต และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกใช้เป็นประเทศนำผ่านด้วยเช่นกัน ดังนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก ประชุมหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด
สาระสำคัญ
แนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมโดยที่ประชุมได้หารือแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดซึ่งสรุปผลการประชุมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้ก่อนเพื่อปรับปรุงวิธีการพิจารณาการอนุญาตการนำเข้า และส่งออก โดยจะอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกตามปริมาณการใช้จริง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ ภายในประเทศ ประมาณ 141 ราย และมีปริมาณการใช้ภายในประเทศ ประมาณ 300 ตันเศษ (ไม่รวมการใช้ในเหมืองแร่) ส่วนสารเบนซิลไซยาไนด์ ภายหลังปี พ.ศ. 2560 ยังไม่มีการนำเข้า
2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการควบคุมการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ และเบนซิลไซยาไนด์ โดยการกำหนดให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ (End User) ต้องยืนยันตัวตนโดยการลงทะเบียนเพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์แล้วในกระบวนการผลิตสารตั้งต้น ยังมีสารเคมีที่เกี่ยวข้องอีก คือ สารเบนซิลคลอไรด์ ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอให้มีการควบคุมสารเบนซิลคลอไรค์ โดยวิธีการตามข้อ 2. ด้วย