นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในฐานะพืชเศรษฐกิจและผลักดันให้กัญชาเป็นพืชทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย กรมการแพทย์จะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สำคัญ ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและครอบครัวมีความเชื่อมั่นในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีภารกิจสำคัญในด้านต่างๆที่ต้องดำเนินงาน ได้แก่ การจัดทำคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์และทันตแพทย์สามารถสั่งใช้ และเภสัชกรสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยได้รับการรักษา/ควบคุมอาการของโรค/ภาวะของโรคที่จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จัดทำแนวทางการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการผสมผสานทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยในสถานพยาบาลแห่งเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
การส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น (DMS Oil) ซีรั่มบำรุงผิวและครีมชะลอวัย (Rejuvenating cream with CBD)จาก CBD สบู่ใบกัญชา(Cannabis soap) และโปรตีนที่สกัดจากเมล็ดกัญชง(Hemp protein powder)
ดำเนินการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยในด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ส่วนงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ การศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคมะเร็ง/ผู้ป่วยแบบประคับประคอง กลุ่มโรคผิวหนัง กลุ่มโรคทางระบบประสาท และผลิตภัณฑ์จากกัญชา (อาหารเสริม/เครื่องสำอาง)
การจัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC)เพื่อสนับสนุนการวิจัยกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ โดยการศึกษาวิจัยทางคลินิก การฝึกอบรมถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลักดันยาสมุนไพรสารสกัดกัญชาสู่บัญชียาหลัก
การผลักดันรายการยาสมุนไพรสารสกัดกัญชาทางการแพทย์เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) บัญชี 1 และบัญชี 3 บัญชี 1ได้แก่ สารสกัดกัญชา ชนิด THC : CBD เด่น= 1:1สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ดูแลแบบประคับประคอง และสารสกัดกัญชา ชนิด THC เด่น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดและบัญชี 3 ได้แก่สารสกัดกัญชา ชนิด CBD เด่นสำหรับลมชักที่รักษายากในเด็ก รวมทั้งมีการจัดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น จำนวน 9,587 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2565) การจัดอบรมหลักสูตรพยาบาลผู้จัดการการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Care manager) จำนวน 2 รุ่น เป็นพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวน 358 คน
นายแพทย์ธงชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2566 กรมการแพทย์ จะเร่งดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่สำคัญเชื่อถือได้ และผลักดันรายการยาสมุนไพรสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับกัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย สมดังปณิธานของกรมการแพทย์ที่ว่า “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”
“กัญชาทางการแพทย์”อาจยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยแต่ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันทำความรู้ ความเข้าใจ และนำไปใช้อย่างถูกวิธี ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งด้านการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต.