7 มิถุนายน 2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า เรื่องปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบราชการนั้น มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ที่มี ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธาน มีแพทย์ที่มาจากการเลือกตั้งและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น เข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ทั้งการผลิต การจัดสรรแพทย์ใช้ทุน การบริหารจัดการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์ประจำบ้าน ตลอดจนการธำรงรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบ ซึ่งจะนำเสนอชุดข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องความขาดแคลน ภาระงาน การลาออก ความต้องการแพทย์เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ให้ที่ประชุมได้ช่วยกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน
“เรื่องจำนวนแพทย์ที่ลาออกจากระบบราชการ ยังมีหลายกระแสข่าวว่าแพทย์จบใหม่ 2,700 คน มีการลาออกถึง 900 คน หรือ 1 ใน 3 ซึ่งเป็นการแปลความที่คลาดเคลื่อน จำนวน 900 คน นั้น เป็นการถูกจัดสรรไปยังหน่วยงานอื่นก่อนจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขและกลาโหม ข้อมูลที่แท้จริง กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรแพทย์ปีละประมาณ 1,800 คน มีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนปี 1, ปี 2, ปี 3 และหลังใช้ทุนครบ 3 ปี รวมเฉลี่ยปีละ 455 คน สาเหตุที่ลาออกมีทั้งไปศึกษาต่อ ไปทำงานในภาคเอกชน หมดสัญญาชดใช้ทุน รวมถึงภาระงานด้วยส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จะมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้นมากจากการให้บริการ ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลงานเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ นัดหารือกับ สปสช.เร็วๆ นี้ ถึงทิศทางการลดภาระงานซึ่งไม่ใช่แพทย์ฝ่ายเดียว แต่รวมถึงทุกวิชาชีพที่ร่วมให้บริการ ส่วนเรื่องกรอบอัตรากำลังแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีการนัดหมายเลขาธิการ ก.พ. เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการใหม่ๆ ทั้งเรื่องของแซนด์บ็อกซ์ รูปแบบการจ้างงานต่างๆ ในวันที่ 20 มิถุนายน นี้