ซีเซียม 137 ไม่ฟุ้งกระจายในสภาพแวดล้อม ยืนยันไม่กระทบ ปชช.
นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เปิดเผยว่า จากลงพื้นที่ตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือในการตรวจสอบวัดแผ่รังสีบริเวณรอบๆ โรงงานดังกล่าวรัศมี 5 กิโลเมตร มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ ไปตรวจสอบไม่พบการฟุ้งกระจาย หรือปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงงานดังกล่าวถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด และจากการตรวจพนักงานที่ทำงานในโรงงานไม่พบการเปรอะเปื้อนของสารซีเซียม 137 เช่นกัน
ปส.แจ้งความ-ตร.ไล่กล้องวงจรปิดหาเบาะแส
ขณะที่ พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ได้รับแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 เวลาประมาณ 12.00 น. ตำรวจได้จัดชุดสืบสวนออกไปยังบริษัทที่อาจอนุมานได้ว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ ซึ่งมาแจ้งว่า วัตถุชิ้นนี้หายไป บริษัทเป็นที่ปิด ตำรวจจะเข้าก็เข้าไม่ได้ ต้องประสานงาน แม้แต่ผู้ว่าฯ หรืออธิบดีไปก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องภายในบริษัท
สำหรับคำถามว่า วัตถุชิ้นนี้ออกไปสู่ด้านนอกได้อย่างไร ขณะนี้ตำรวจไล่กล้องวงจรปิด และขอความร่วมมือบริษัทขอกล้องตรงจุดเกิดเหตุ เพื่อวิเคราะห์ แต่อาจเพราะกล้องติดมานานแล้ว บางตัวเก็บภาพได้ บางตัวเก็บไม่ได้ ในขั้นตอนนี้กำลังสืบสวนและพิสูจน์ทราบว่าออกไปได้อย่างไร ใครเอาออกไป
ล่าสุด สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้ว หลังจากนี้จะสอบสวนทางคดีอาญาต่อไป เรื่องผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปแล้วไม่แจ้งโดยพลัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2562 มาตรา 100 โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
ส่วนการสืบสวนว่าของออกไปได้อย่างไร ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าใช่วัตถุชิ้นนี้หรือไม่ เพราะของชิ้นนี้อาจจะถูกซีล หรือถูกปิดแล้วค้างอยู่ในบริษัทก็ได้ แต่จากที่สืบทราบของชิ้นนี้ในประเทศไทย ต้องขึ้นทะเบียนกับทาง ป.ส.ทั้งหมด และมีชิ้นเดียวที่หายไป จึงอนุมานว่าอาจจะใช่ก็ได้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องถูกสอบสวนหมด
เร่งตรวจร่างกาย 70 พนักงานกลุ่มเสี่ยงหาสารซีเซียม 137
นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า หลังจากได้รับจากว่าซีเซียม 137 ได้หายไป ก็ได้มีการขอข้อมูล 1 เดือนย้อนหลัง ไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งใน จ.ปราจีนบุรี เพื่อทำการประเมินว่ามีผู้ป่วยเข้าข่ายหรือไม่ โดยหากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารซีเซียม 137 จะดีอาการดังนี้
1.ระบบผิวหนังเป็นแผล
2.ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว
3.ระบบเลือดไหลเวียนโลหิต และเข้าไขกระดูกอาจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
4.ระบบประสาท ชัก เกร็ง อาจเสียชีวิตได้
ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบผู้ป่วยที่เข้าข่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อวานได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานต้นเรื่อง ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร และโรงงานเป็นสถานที่ปิด โดยโรงงานดังกล่าวได้มีพนักงาน 70 คน แบ่งเป็นคนต่างด้าว 60 คน และคนไทย 10 คน เบื้องต้นให้สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด และจะมีการตรวจสุขภาพพนักงานทั้งหมด และอาจจะมีการเฝ้าระวังเป็นระยะ ส่วนญาติต้องทำการประเมินอีกครั้งว่าจะปนเปื้อนไปจากเสื้อผ้าได้หรือไม่
ส่วนในภาพรวมจะทำการประเมินชุมชนรอบข้างว่ามีความเสี่ยงหรือข้อกังวลอะไรหรือไม่ และถ้าประชาชนกังวลเจ้าหน้าที่ก็จะลงพื้นที่ไปตรวจสุขภาพให้
นอกจากนี้ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านสุขภาพ ที่ สสจ.ปราจีนบุรี เพื่อประเมินสถานการณ์ และทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งกำชับให้ดูแลด้านสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เต็มที่